วันเสาร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

วันสำคัญของไทย


ความหมายของวันสงกรานต์ สงกรานต์ คือ เทศกาลเนื่องในการขึ้นปีใหม่อย่างเก่าของไทยเรา ซึ่งกำหนดตามสุริยคติ ตรงกับวันที่ 13 - 14 - 15 เมษายน โดยแบ่งตามวันดังนี้ •วันที่ 13 เมษายน เรียกว่า วันมหาสงกรานต์ •วันที่ 14 เมษายน เรียกว่า วันเนา •วันที่ 15 เมษายน เรียกว่า วันเถลิงศก สงกรานต์ เป็นคำภาษาสันสกฤต แปลว่า "ผ่าน" หรือ "เคลื่อนย้ายเข้าไป" ในที่นี้หมายถึงเป็นวันที่พระอาทิตย์ ผ่านหรือเคลื่อนย้ายจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษในเดือนเมษายน ถือเป็นช่วงสงกรานต์ หากพระอาทิตย์เคลื่อนย้าย ในช่วงเดือนอื่น ๆ ถือเป็นการเคลื่อนย้ายธรรมดา ตามปกตินั้นพระอาทิตย์จะย้ายจากราศีหนึ่งไปสู่อีกกลุ่มดาวหนึ่งเป็นประจำทุกเดือน หรือจะเรียกว่าเป็นการย้ายจากกลุ่มดาวหนึ่งไปสู่อีกกลุ่มดาวหนึ่ง ตามหลักโหราศาสตร์หรือภาษาโหร เรียกว่า"ยกขึ้นสู่" ตัวอย่างเช่น พระอาทิตย์ขึ้นสู่ราศีเมษ ก็คือการที่พระอาทิตย์ย้ายจากกลุ่มดาวราศีมีนไปสู่กลุ่มดาวราศีเมษ ซึ่งเป็นราศีถัดไปนั่นเอง โหรโบราณ ได้แบ่งท้องฟ้าออกเป็น 12 ส่วน ส่วนหนึ่ง ๆ เรียกว่าราศี ซึ่งมีราศีละ 30 องศา รวม 12 ราศี ก็เท่ากับ 360 องศาครบรอบวงกลมพอดี ตามตัวอย่างข้างล่างนี้ •ราศีเมษ เกิดระหว่างวันที่ 13 เมษายน-13 พฤษภาคม •ราศีพฤษภ เกิดระหว่างวันที่ 14 พฤษภาคม - 13 มิถุนายน •ราศีเมถุน เกิดระหว่างวันที่ 14 มิถุนายน -14 กรกฎาคม •ราศีกรกฎ เกิดระหว่างวันที่ 15 กรกฎาคม - 16 สิงหาคม •ราศีสิงห์ เกิดระหว่างวันที่ 17สิงหาคม -16 กันยายน •ราศีกันย์ เกิดระหว่างวันที่ 17 กันยายน - 16 ตุลาคม •ราศีตุล เกิดระหว่างวันที่ 17 ตุลาคม - 16 พฤศจิกายน •ราศีพิจิก เกิดระหว่างวันที่ 17 พฤศจิกายน - 15 ธันวาคม •ราศีธนู เกิดระหว่างวันที่ 16 ธันวาคม - 15 มกราคม •ราศีมังกร เกิดระหว่างวันที่ 16 มกราคม - 12 กุมภาพันธ์ •ราศีกุมภ์ เกิดระหว่างวันที่ 13 กุมภาพันธ์ - 13 มีนาคม •ราศีมีน เกิดระหว่างวันที่ 14 มีนาคม - 12 เมษายน ด้วยเหตุนี้ เมื่อสงกรานต์ แปลว่า ผ่าน หรือ เคลื่อนย้ายเข้าไป วันสงกรานต์จึงต้องมีอยู่ประจำทุกเดือน เพราะดวงอาทิตย์จะย้ายจากราศีหนึ่ง ไปสู่อีกราศีหนึ่งซึ่งอยู่ถัดไปเดือนละ 1 ครั้ง เสมอ


            แต่ในวันและเวลาที่พระอาทิตย์ยกขึ้นสู่ (ตามภาษาโหร) หรือเคลื่อนย้ายจากราศีมีนเข้าไปสู่ราศีเมษ ในเดือน เมษายน (ซึ่งตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5) เราถือเป็นกรณีพิเศษ เรียกว่าวันมหาสงกรานต์ด้วยถือกันว่าเป็นวันและแวลาที่ตั้งต้นสู่ปีใหม่ เป็นวันเปลี่ยนจุลศักราชใหม่ ตามการคำนวณของโหรผู้รู้ทางโหราศาสตร์ เพราะในสมัยโบราณเรานับถือเดือนเมษายนเป็นเดือนแรกของปี สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ.2432 ได้กำหนดให้ใช้ วันขึ้น 1 ค่ำเดือน 5 ซึ่งตรงกับวันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ และได้ใช้เรื่อยมา สาเหตุก็เพราะสอดคล้องกับธรรมเนียมโบราณ เนื่องจากหากนับทางจันทรคติ จะตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำเดือน 5 ซึ่งก็คือวันสงกรานต์ หรือวันที่ดวงอาทิตย์ย้ายจากราศีมีนไปสู่ราศีเมษนั่นเอง และได้มีการใช้วันที่ 1 เมษายน เป็นวันปีใหม่ของไทยแต่นั้นเรื่อยมาแม้ว่าในปีต่อไปจะไม่ตรงกับวันสงกรานต์ (หมายถึงวันที่ดวงอาทิตย์ย้ายจากราศีมีน ไปสู่ราศีเมษ) ทั้งนี้เพื่อให้มีการกำหนดวันทางสุริยคติที่แน่นอนตายตัวลงไป             ต่อมาในวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ.2483 คณะรัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลย์สงคราม ได้ประกาศให้ใช้วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2484 เป็นวันขึ้นปีใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับประเทศอื่น ๆ เป็นสากลทั่วโลกและใช้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนั้นเรายังถือเอาวันที่ 14 เมษายนเป็นวันครอบครัว อีกด้วย             เมื่อถึงเดือน 5 ตรงกับวันที่ 13 เมษายนของทุก ๆ ปีเราเรียกวันนี้ว่า " วันสงกรานต์ " ประเพณีไทยเดิมถือว่าวันนี้เป็นวันขึ้นปีใหม่ธรรมเนียมไทยเราก็จะมีการเล่นรื่นเริง มีการรดน้ำดำหัวโดยเฉพาะหนุ่มๆ สาวๆ จะสนุกกันเต็มที่เล่นสาดน้ำกันโดยไม่ถือเนื้อถือตัวเลย ในชนบทหลายแห่ง มีการเล่นพื้นเมืองต่าง ๆ กัน อนึ่งวันนี้บางแห่งจะเริ่มจากวันที่ 13 เมษายน และมีการเล่นสนุกสนานไปราว ๆ๑ สัปดาห์ หรือกว่านั้น แต่ไม่เกิน 2 สัปดาห์ ระยะนี้จะมีการนำน้ำหอมเสื้อผ้าอาภรณ์ไปรดน้ำผู้ใหญ่ ญาติพี่น้องที่เคารพนับถือและทางศาสนาก็จัดให้มีการบายศรีพระสงฆ์สมภารเจ้าวัด สรงน้ำพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์เท่าที่มีตามวัดต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้เคียง             วันเนา แปลว่า วันอยู่ หมายความว่าเป็นวันถัดจากวันมหาสงกรานต์ เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ย่างเข้าสู่ราศีตั้งแต่ปีใหม่ เข้าที่เข้าทางตั้งต้นปีใหม่ หรือประจำที่เรียบร้อยแล้ว             วันเถลิงศก คือ วันเปลี่ยนจุลศักราชเป็นปีใหม่ เป็นวันที่ 3 (ได้ 3 วัน) ตรงกับวันที่ 15 เมษายน การที่เลื่อนวันขึ้นศกใหม่มาถึง 3 วัน ถัดจากวันมหาสงกราน์ก็เพื่อให้หมดปัญหาว่า การย่างขึ้นสู่จุดเดิมสำหรับต้นปีนั้นเรียบร้อยดีไม่มีปัญหาที่อาจติดพันเกี่ยวกับชั่วโมง นาที วินาที ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ที่จะเปลี่ยนศก

กำเนิดวันสงกรานต์

            เมื่อต้นภัทรกัลป์ มีเศรษฐีคนหนึ่ง มั่งมีทรัพย์มาก แต่ไม่มีบุตร บ้านอยู่ใกล้นักเลงสุรา นักเลงสุรานั้นมีบุตร 2 คน ผิวเนื้อดุจทอง วันหนึ่งนักเลงสุราเข้าไปในบ้านของเศรษฐี แล้วด่าเศรษฐี ด้วยถ้อยคำหยาบคายต่าง ๆ เศรษฐีได้ฟังจึงถามว่า พวกเจ้ามาพูดหยาบคายดูหมิ่นเราผู้เป็นเศรษฐีเพราะ เหตุใด พวกนักเลงสุราจึงตอบว่า ท่านมีสมบัติมากมายแต่หามีบุตรไม่ เมื่อท่านตายไปสมบัติก็จะ อันตรธานไปหมด หาประโยชน์อันใดมิได้ เพราะขาดทายาทผู้ปกครอง ข้าพเจ้ามีบุตรถึง 2 คน และ รูปร่างงดงามเสียด้วย ข้าพเจ้าจึงดีกว่าท่าน เศรษฐีครั้นได้ฟังก็เห็นจริงด้วย จึงมีความละอายต่อนักเลง สุรายิ่งนัก จึงนึกใคร่อยากได้บุตรบ้าง จึงทำการบวงสรวงพระอาทิตย์และพระจันทร์ ตั้งจิตอธิษฐาน เพื่อขอให้มีบุตร อยู่ถึง 3 ปี ก็มิได้มีบุตรสมดังปรารถนา             เมื่อขอบุตรจากพระอาทิตย์และพระจันทร์มิได้ดังปรารถนาแล้วอยู่มาวันหนึ่งถึงฤดูคิมหันต์ จิตรมาส ( เดือน 5 ) โลกสมมุติว่าเป็นวันมหาสงกรานต์ คือ พระอาทิตย์ยกจากราศีมีนประเวสสู่ราศีเมษ คนทั้งหลายพากันเล่นนักขัตฤกษ์เป็นการรื่นเริงขึ้นปีใหม่ทั่วชมพูทวีป ขณะนั้นเศรษฐีจึงพาข้าทาสบริวาร ไปยังต้นไทรริมฝั่งแม่น้ำอันเป็นที่อยู่แห่งปักษีชาติทั้งหลาย เอาข้าวสารซาวน้ำ 7 ครั้ง แล้วหุงบูชา รุกขพระไทรพร้อมด้วยสูปพยัญชนะอันประณีต และประโคมด้วยดุริยางค์ดนตรีต่าง ๆ ตั้งจิตอธิษฐาน ขอบุตรจากรุกขพระไทร รุกขพระไทรมีความกรุณา เหาะไปขอบุตรกับพระอินทร์ให้กับเศรษฐี             พระอินทร์จึงให้ธรรมบาลเทวบุตร ลงไปปฏิสนธิในครรภ์ บิดามารดาขนานนามว่า ธรรมบาลกุมาร แล้วจึงปลูกปราสาทขึ้น ให้กุมารอยู่ใต้ต้นไทรริมสระฝั่งแม่น้ำนั้น ครั้นกุมารเจริญขึ้น ก็รู้ภาษานกแล้วเรียนจบไตรเพทเมื่ออายุได้ 8 ขวบ และได้เป็นอาจารย์บอกมงคลการต่าง ๆ แก่มนุษย์ ชาวชมพูทวีปทั้งปวงซึ่งขณะนั้นโลกทั้งหลายนับถือท้าวมหาพรหม และกบิลพรหมองค์หนึ่งได้แสดง มงคลการแก่มนุษย์ทั้งปวง             เมื่อกบิลพรหมแจ้งเหตุที่ธรรมกุมารเป็นผู้มีชื่อเสียง เป็นที่นับถือของมนุษย์ชาวโลกทั้งหลาย จึงลงมาถามปัญหาแก่ธรรมกุมารสามข้อ ความว่า             1. เวลาเช้า ราศีอยู่ที่ไหน             2. เวลาเที่ยง ราศีอยู่ที่ไหน             3. เวลาเย็น ราศีอยู่ที่ไหน

            และสัญญาว่า ถ้าท่านแก้ปัญหาสามข้อนี้ได้เราจะตัดศีรษะเราบูชาท่าน ถ้าท่านแก้ไม่ได้ เราจะตัดศีรษะของท่านเสีย ธรรมกุมารรับสัญญา แต่ผลัดแก้ปัญหาไป ๗ วัน กบิลพรหมก็กลับไปยัง พรหมโลก             ฝ่ายธรรมบาลกุมารพิจารณาปัญหานั้นล่วงไปได้ 6 วันแล้วยังไม่เห็นอุบายที่จะตอบปัญหาได้ จึงคิดว่าพรุ่งนี้แล้วสิหนอ เราจะต้องตายด้วยอาญาของท้าวกบิลพรหม เราหาต้องการไม่ จำจะหนีไป ซุกซ่อนตนเสียดีกว่า คิดแล้วลงจากปราสาทเที่ยวไปนอนที่ต้นตาล 2 ต้น ซึ่งมีนกอินทรีสอง ตนผัวเมีย ทำรังอยู่บนต้นตาลนั้นขณะที่ธรรมบาลกุมารนอนอยู่ใต้ต้นตาลนั้น ได้ยินเสียงนางนกอินทรีถามผัวว่า พรุ่งนี้เราจะไปหาอาหารที่ไหน นกอินทรีผู้ผัวตอบว่า พรุ่งนี้ครบ 7 วันที่ท้าวกบิลพรหม ถามปัญหาแก่ธรรมบาลกุมาร แต่ธรรมบาลกุมารแก้ไม่ได้ ท้าวกบิลพรหมจะตัดศีรษะเสียตามสัญญา เราทั้งสองจะได้กินเนื้อมนุษย์ คือ ธรรมบาลกุมารเป็นอาหาร นางนกอินทรีจึงถามว่าท่านรู้ปัญหาหรือ ผู้ผัวตอบว่ารู้ แล้วก็เล่าให้นางนกอินทรีฟังว่า             เวลาเช้าราศีอยู่ที่ หน้า คนทั้งหลายจึงเอาน้ำล้างหน้า             เวลาเที่ยงราศีอยู่ที่ อก คนทั้งหลายจึงเอาน้ำและแป้งกระแจะจันทร์ลูบไล้ที่อก             เวลาเย็นราศีอยู่ที่ เท้า คนทั้งหลายจึงเอาน้ำล้างเท้า             ธรรมบาลกุมารนอนอยู่ใต้ต้นไม้ได้ยินการสนทนาของทั้งสองก็จำได้ จึงมีความโสมนัส ปีติยินดีเป็นอันมาก แล้วจึงกลับมาสู่ปราสาทของตน ครั้นถึงวาระเป็นคำรบ 7 ตามสัญญา ท้าวกบิลพรหมก็ลงมาถามปัญหาทั้งสามข้อตามที่นัด หมายกันไว้ ธรรมบาลกุมารก็วิสัชนาแก้ปัญหาทั้งสามข้อตามที่ได้ฟังมาจากนกอินทรีนั้น ท้าวกบิลพรหม ยอมรับว่าถูกต้องและยอมแพ้แก่ธรรมบาลกุมาร และจำต้องตัดศีรษะของตนบูชาตามที่สัญญาไว้ แต่ก่อนที่ จะตัดศีรษะ ได้ตัดเรียกธิดาทั้ง 7 อันเป็นบาทบริจาริกาของพระอินทร์ คือ             นางทุงษะเทวี นางรากษเทวี นางโคราคเทวี นางกิริณีเทวี นางมณฑาเทวี นางกิมิทาเทวี นางมโหธรเทวี             อันโลกสมมุติว่าเป็นองค์มหาสงกรานต์ กับทั้งเทพบรรษัทมาพร้อมกัน แล้วจึงบอกเรื่องราวให้ทราบและตรัสว่าพระเศียรของเรานี้ ถ้าตั้งไว้บนแผ่นดินก็จะเกิดไฟไหม้ไปทั่วโลกธาตุ ถ้าจะโยนขึ้น ไปบนอากาศฝนก็จะแล้ง เจ้าทั้ง 7 จงเอาพานมารองรับเศียรของบิดาไว้เถิด ครั้นแล้วท้าวกบิลพรหม ก็ตัดพระเศียรแค่พระศอส่งให้นางทุงษะเทวีธิดาองค์ใหญ่ในขณะนั้น โลกธาตุก็เกิดโกลาหลอลเวงยิ่งนัก             เมื่อนางทุงษะมหาสงกรานต์เอาพานรองรับพระเศียรของท้าวกบิลพรหมแล้วก็ให้เทพบรรษัทแห่ประทักษิณ เวียนรอบเขาพระสุเมรุราช 60 นาทีแล้วจึงเชิญเข้าประดิษฐานไว้ในมณฑป ณ ถ้ำคันธธุลี เขาไกรลาศ กระทำบูชาด้วยเครื่องทิพย์ต่างๆ พระวิษณุกรรมเทพบุตรก็เนรมิตโลงแก้ว อันประกอบด้วยแก้ว 7 ประการ ชื่อภัควดีให้เทพธิดาและนางฟ้าแล้ว เทพยดาทั้งหลายก็นำมาซึ่งเถาฉมุนาตลงล้างน้ำ ในสระอโนดาต 7 ครั้ง แล้วแจกกันสังเวยทั่วทุกๆ พระองค์ ครั้นได้วาระกำหนดครบ 365 วัน โลกสมมุติว่าปีหนึ่งเป็นวันสงกรานต์นางเทพธิดาทั้ง 7 ก็ทรงเทพพาหนะต่างๆ ผลัดเปลี่ยนเวียนกันมา เชิญพระเศียรกบิลพรหมออกแห่พร้อมด้วยเทพบรรษัทแสนโกฏิ ประทักษิณเวียนรอบเขาพระสุเมรุ ราชบรรษัท ทุกๆ ปีแล้วกลับไปยังเทวโลก             ดังได้กล่าวมาแล้วว่า ธิดาท้าวกบิลพรหมมีอยู่ด้วยกัน 7 นาง ถ้าปีใดนางสงกรานต์ตรงกับ อะไรใน 7 วัน นางทั้ง 7 ก็ผลัดเปลี่ยนเวียนกันมารับเศียรของบิดาตนเพื่อมิให้ตกลงสู่แผ่นดิน เพราะ จะเกิดฝนแล้งไฟไหม้โลก นางทั้ง 7 มีชื่อต่างๆ กันและแต่งกายก็แตกต่างกันออกไป ประกอบกับอาวุธ ที่ถือก็แตกต่างกันด้วย ดังนี้




 

วันอาทิตย์ นางสงกรานต์ชื่อ ทุงษะ ทัดดอกทับทิม เครื่องประดับปัทมราช ( แก้วทับทิม ) ภักษาหาร อุทุมพร ( ผลมะเดื่อ ) อาวุธขวาจักร ซ้ายสังข์ พาหนะครุฑ วันจันทร์ นางสงกรานต์ชื่อ โคราคะ ทัดดอกปีบ เครื่องประดับมุกดา ภักษาหารเตละ (น้ำมัน) อาวุธขวาพระขรรค์ ซ้ายไม้เท้า พาหนะพยัคฆ์ ( เสือ ) วันอังคาร นางสงกรานต์ชื่อ รากษก ทัดดอกบัวหลวง เครื่องประดับแก้วโมรา ภักษาหาร โลหิต ( เลือด ) อาวุธขวาตรีศูล ( หลาวสามง่าม ) ซ้ายธนู พาหนะวราหะ ( หมู ) วันพุธ นางสงกรานต์ชื่อ มณฑา ทัดดอกจำปา เครื่องประดับไพฑูรย์ ภักษาหารนมเนย อาวุธขวาเข็ม ซ้ายไม้เท้า พาหนะคัทรภา ( ลา ) วันพฤหัสบดี นางสงกรานต์ชื่อ กิริณี ทัดดอกมณฑา เครื่องประดับมรกต ภักษาหารถั่วงา อาวุธขวาขอ ซ้ายปืน พาหนะคช (ช้าง) วันศุกร์ นางสงกรานต์ชื่อ กิทิมา ทัดดอกจงกลณี เครื่องประดับบุษราคัม ภักษาหารกล้วยน้ำ อาวุธขวาพระขรรค์ ซ้ายพิณ พาหนะมหิงส์ ( ควาย ) วันเสาร์ นางสงกรานต์ชื่อ มโหธร ทัดดอกสามหาว เครื่องประดับนิลรัตน์ ภักษาหารเนื้อทราย อาวุธขวาจักร ซ้ายตรี พาหนะมยุรา ( นกยูง )

 

ประเพณีการทำบุญในวันสงกรานต์

 

            แม้เราจะถือเอาวันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีมใหม่ตามหลักสากล แต่ธรรมเนียมไทยยังให้ความสำคัญกับวันสงกรานต์อยู่ โดยถือเอาเป็นวันขึ้นปีใหม่ตามแบบไทย ดังนั้นเมื่อใกล้ถึงวันสงกรานต์การตระเตรียมทำความสะอาดอาคารบ้านเรือน และเตรียมข้าวของที่จะทำบุญตักบาตร             สมัยโบราณ เมื่อถึงวันสงกรานต์ประชาชนจะพากันตื่นแต่เช้ามืด เตรียมหุงข้าวต้มแกง เพื่อนำไปทำบุญที่วัด ทุกคนจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าชุดใหม่สีสันสดใส โดยเฉพาะหนุ่มสาวเพราะจะได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกันได้อย่างสะดวก แต่ก็ต้องอยู่ในสายตาของผู้ใหญ่             เมื่อทำบุญตักบาตรหรือเลี้ยงพระเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จะมีการบังสุกุลอัฐิของบรรพบุรุษ ผู้ล่วงลับเพื่ออุทิศส่วนกุศลไปให้ นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมอื่น ๆ เช่น ก่อพระเจดีย์ทราย ซึ่งเป็นการขนทรายเข้าวัดสำหรับไว้ใช้ในงานก่อสร้างโบสถ์วิหาร มีการปล่อยนกปล่อยปลาซึ่งเท่ากับเป็นการแพร่ขยายพันธ์สัตว์ให้คงอยู่ไปชั่ว ลูกชั่วหลาน และที่จะขาดเสียไม่ได้ก็คือการสรงน้ำพระการรดน้ำดำหัวขอพรจากผู้ใหญ่ รวมไปจนถึงการเล่นสาดน้ำกันเองในหมู่หนุ่มสาว การสรงน้ำพระพุทธรูป,การสรงน้ำพระสงฆ์             ชาวบ้านจะนำดอกไม้ธูปเทียนไปบูชา แล้วเอาน้ำอบไปประพรมที่องค์พระ เพื่อความเป็นสิริมงคล บางแห่งมีการอัญเชิญพระพุทธรูปแห่แหนไปรอบๆหมู่บ้าน เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสได้สรงน้ำกันอย่างทั่วถึงหรือจะอัญเชิญพระพุทธรูปจาก หิ้งบูชาในบ้านมาทำพิธีสรงน้ำกันในหมู่ญาติพี่น้องก็ได้             ชาวบ้านจะได้ไปชุมนุมกันที่วัด นิมนต์พระในวัดมายังสถานที่ประกอบพิธี การรดน้ำควรรดที่มิอของท่าน ไม่ควรตักราดเหมือนกับเป็นการอาบน้ำจริง ๆ เพราะพระสงฆ์ถือเป็นเพชที่สูงกว่าคนธรรมดาทั่วไป น้ำที่ใช้ต้องเป็นน้ำฝนหรือน้ำสะอาดผสมน้ำอบไทย เมื่อสรงน้ำแล้วพระท่านก็จะให้ศีลให้พรเพื่อความเป็นสิริมงคล
 

การรดน้ำดำหัวขอพรญาติผู้ใหญ่และผู้ที่เคารพนับถือ

            การ รดน้ำผู้ใหญ่ หากระทำกันเองในบ้าน ลูกหลานจะเชิญพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ญาติผู้ใหญ่ มานั่งในที่จัดไว้ แล้วนำน้ำอบน้ำหอมผสมน้ำมารดให้ท่าน อาจรดที่มือหรือรดทั้งตัวไปเลยก็มีในระหว่างที่รดน้ำท่านก็ให้พรแก่ลูกหลาน เสร็จพิธีแล้วจึงผลัดนุ่งผ้าใหม่ที่ลูกหลานจัดเตรียมไว้ให้ เป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีภายในครอบครัว การรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือ ส่วนใหญ่จะมีผ้าใหว้เช่นเสื้อผ้าและผ้าขาวม้าไปมอบให้ด้วย การรดน้ำส่วนใหญ่จะรดที่มือ ขอศีลขอพร เป็นการแสดงความเคารพผู้มีอาวุโสและผู้มีพระคุณตามธรรมเนียมอันดีของไทย บางหมู่บ้านอาจเชิญคนแก่คนเฒ่ามารวมกัน แล้วให้ลูก ๆ หลาน ๆ ทำพิธีรดน้ำขอพร ซึ่งเป็นประเพณีอันดีงามที่ควรช่วยกันส่งเสริมและอนุรักษ์ไว้

 

การเล่นสาดน้ำสำหรับหนุ่มสาว

 

            หลังจากทำพิธีสรงน้ำพระพุทธรูป สรงน้ำพระสงฆ์ และรดน้ำขอพรจากญาติผู้ใหญ่แล้ว พวกหนุ่ม ๆสาวๆ ก็จะเล่นสาดน้ำกันอย่างสนุกสนาน ซึ่งน้ำที่ใช้นำมาสาดกันนั้นต้องเป็นน้ำสะอาดผสมน้ำอบมีกลิ่นหอม เด็กบางคนไม่เข้าใจถึงวัฒนธรรมถึงจุดประสงค์ของการเล่นสาดน้ำในวันสงกรานต์ เอาน้ำผสมสีหรือผสมเมล็ดแมงลัก แล้วนำไปสาดผู้อื่น ซึ่งเป็นการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง สถานที่เล่นสาดน้ำสวนใหญ่เป็นลานวัด หรือลานกว้างของหมู่บ้าน พอเหนื่อยก็จะมีขนมและอาหารเลี้ยง ซึ่งชาวบ้านจะช่วยกันเรี่ยไรออกเงินและช่วยกันทำไว้ จนถึงตอนเย็นจึงแยกย้ายกันกลับไปบ้านเพื่ออาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าชุดใหม่ แล้วมาชุมนุมกันที่ลาดวัดอีกครั้ง เพื่อร่วมการละเล่นพื้นเมือง
 

การละเล่นพื้นบ้านในวันสงกรานต์

 

            การละเล่นพื้นบ้านหรือจะเรียกว่ากีฬาพื้นเมืองก็ได้ เป็นเกมที่สร้างความสนุกสนานสามัคคี และความใกล้ชิดผูกพันพวกหนุ่ม ๆสาว ๆ จะแบ่งกันเป็นสองฝ่าย จัดทีมเพื่อเล่นแข่งขันกับฝ่ายตรงข้าม มีผู้ใหญ่เป็นกรรมการหรือผู้ควบคุม ส่วนคนเฒ่าคนแก่ก็คอยส่งเสียงเชียร์ให้กำลังใจอยู่วงนอก             การละเล่นที่นิยมนำมาเล่นกันในงานสงกรานต์ มีหลายอย่าง เช่น ชักเย่อ ไม้หึ่ง งูกินหาง ช่วงชัย วิ่งเปี้ยว เขย่งแตะ หลับตาตีหม้อ มอญซ่อนผ้า สะบ้า ขี่ม้าส่งเมือง ลิงชิงหลัก ฯลฯ นอกจากนั้นมีการเล่นเพลงยาว ลำตัด รำวง ฯลฯ การประกวดนางสงกรานต์ซึ่งแต่ละกิจกรรมร่วมสร้างความสนุกสนานเป็นกันเอง หนุ่มสาวได้มีโอกาสใกล้ชิดกัน ได้ศึกษาดูนิสัยใจคอ ได้มีโอกาสพูดจาโอภาปราศรัยกัน             ประเพณีการทำบุญและการละเล่นในวันสงกรานต์แต่ละท้องถิ่นอาจ มีผิดแตกต่างกันไปบ้างตามความและยุคสมัยในชนบทอาจกำหนดวันทำบุญและวันสรงน้ำ พระไม่ตรงกันในแต่ละหมู่บ้าน ด้วยเหตุนี้พวกหนุ่ม ๆจึงมีโอกาสไปเล่นสงกรานต์ได้หลายแห่งในแต่ละปี วันสงกรานต์จึงถือเป็นประเพณีหนึ่งในหลาย ๆ ประเพณีของไทยแต่โบราณ ที่เปิดโอกาสให้หนุ่มสาวได้เลือกคู่หรือดูอุปนิสัยใจคอกันโดยเปิดเผยโดยไม่ ต้องหลบ ๆ ซ่อน ๆ ต่อสายตาผู้ใหญ่

กิจกรรมวันสงกรานต์

การทำบุญตักบาตร

ถือว่าเป็นการสร้างบุญสร้างกุศลให้ตัวเอง และ อุทิศส่วนกุศลนั้นแก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว การทำบุญแบบนี้มักจะเตรียมไว้ล่วงหน้า นำอาหารไปตักบาตรถวายพระภิกษุที่ศาลาวัด ซึ่งจัดเป็นที่รวมสำหรับทำบุญ ในวันนี้หลังจากที่ได้ทำบุญเสร็จแล้ว ก็จะมีการก่อพระทรายอันเป็นประเพณีด้วย

การรดน้ำ

เป็นการอวยพรปีใหม่ให้กันและกัน น้ำที่รดมักใช้น้ำหอมเจือด้วยน้ำธรรมดา

การสรงน้ำพระ

จะรดน้ำพระพุทธรูปที่บ้านและที่วัด และบางที่จัด สรงน้ำพระสงฆ์ ด้วย

การรดน้ำผู้ใหญ่

คือการไปอวยพรให้ผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ ครูบาอาจารย์ ท่านผู้ใหญ่มักจะนั่งลงแล้วผู้ที่รดก็จะเอาน้ำหอมเจือกับน้ำรดที่มือท่าน ท่านจะให้ศีลให้พรผู้ที่ไปรด ถ้าเป็นพระก็จะนำผ้าสบงไปถวายให้ท่านผลัดเปลี่ยนด้วย หากเป็นฆราวาสก็จะหาผ้าถุง ผ้าขาวม้าไปให้

 การดำหัว

ก็คือการรดน้ำนั่นเอง แต่เป็นคำเมืองทางภาคเหนือ การดำหัวเรียกกันเฉพาะการรดน้ำผู้ใหญ่ที่เราเคารพนับถือ ผู้สูงอายุ คือการขอขมาในสิ่งที่ได้ล่วงเกินไปแล้ว หรือ การขอพรปีใหม่จากผู้ใหญ่ ของที่ใช้ในการดำหัวส่วนมากมีผ้าขนหนู มะพร้าว กล้วย และ ส้มป่อย

การปล่อยนกปล่อยปลา

ถือเป็นการล้างบาปที่ทำไว้ เป็นการสะเดาะเคราะห์ร้ายให้มีแต่ความสุขความสบายในวันขึ้นปีใหม่

การนำทรายเข้าวัด

ทางภาคเหนือนิยมขนทรายเข้าวัดเพื่อเป็นนิมิตโชคลาภ ให้มีความสุขความเจริญ เงินทองไหลมาเทมาดุจทรายที่ขนเข้าวัด
 

ความสำคัญของวันสงกรานต์

 

เป็นวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามประเพณีไทย และถือเป็นวันหยุดประกอบการงานหรือธุรกิจทั่วไป

เป็นวันทำบุญตักบาตรจัดจตุปัจจัยไทยธรรมถวายพระบังสกุลกระดูกพรรพบุรุษ กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ล่วงลับ

เป็น วันแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษ ในวันนี้จะมีการไปรดน้ำดำหัวขอพรจาก พ่อแม่ ผู้เฒ่าผู้แก่ที่เคารพนับถือ วันสงกรานต์ถือเป็น วันสูงอายุแห่งชาติ

เป็นวันรวมญาติมิตรที่จากไปอยู่แดนไกลเพื่อประกอบภาระ หน้าที่งานอาชีพของตน เมื่อถึงวันสงกรานต์ทุกคนจะกลับมาร่วมทำบุญสร้างกุศล จึงถือเอาวันที่ 15 เมษายน ซึ่งอยู่ในช่วงสงกรานต์เป็นวันรวมญาติหรือวันครอบครัว

เป็นวันอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย และส่งเสริมการละเล่นตามประเพณีไทย เช่น มีการทำบุญตักบาตร เล่นสาดน้ำ ชักเย่อ มอญซ่อนผ้า เล่นสะบ้า ฯลฯ

เป็นวันประกอบพิธีทางศาสนา เช่น มีการทำบุญตักบาตรจัดจตุปัจจัยไทยธรรมถวายพระ บังสุกุลกระดูกบรรพบุรุษ กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ล่วงลับ การสรงน้ำพระพุทธรูป สรงน้ำพระสงฆ์ ขนทรายเข้าวัด (ก่อพระเจดีย์ทราย ) รับศีล ปฏิบัติธรรมฯลฯ
 

 
 
 
 
 
ประวัติความเป็นมาประเพณีลอยกระทง


ลอยกระทง (Loy Krathong Day) เป็นประเพณีของไทยที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาแต่โบราณ งานลอยกระทงเริ่มทำตั้งแต่ กลางเดือน ๑๑ ถึงกลางเดือน ๑๒ ซึ่งเป็นฤดูน้ำหลาก น้ำจะเต็มสองฝั่งแม่น้ำ ที่นิยมมากคือ ช่วงวันเพ็ญเดือน ๑๒ เพราะพระจันทร์เต็มดวง ทำให้แม่น้ำใสสะอาด แสงจันทร์ส่องเวลากลางคืน เป็นบรรยากาศที่สวยงาม เหมาะแก่การลอยกระทง

เดิมพิธีลอยกระทงเรียกว่า พระราชพิธีจองเปรียงชักโคม ลอยโคม ซึ่งเป็นพิธีของพราหมณ์ เพื่อบูชาพระเป็นเจ้าทั้งสาม คือ พระอิศวร พระนารายณ์ และพระพรหม ครั้นคนไทยรับนับถือพระพุทธศาสนา ก็ทำพิธียกโคมเพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุ พระจุฬามณี ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ลอยโคมบูชาพระพุทธบาท ณ หาดทรายแม่น้ำนัมมทานที ประเทศอินเดีย
 

 



การลอยกระทง ตามสายน้ำนี้ นางนพมาศ สนมเอกของพระร่วงเจ้ากรุงสุโขทัย คิดทำกระทงรูปดอกบัว และรูปต่างๆถวาย พระร่วงทรงให้ลอยกระทงตามสายน้ำไหล ในหนังสือ ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ พระร่วงตรัสว่า "แต่นี่สืบไปเบื้องหน้า โดยลำดับกษัตริย์ในสยามประเทศ ถึงกาลกำหนดนักขัตฤกษ์วันเพ็ญเดือน ๑๒ ให้ทำโคมลอย เป็นรูปดอกบัวอุทิศสักการบูชาพระพุทธบาทนัมฆทานที ตราบเท่ากัลปาวสาน"

ครั้นถึงสมัยรัตนโกสินทร์ มีการทำกระทงขนาดใหญ่และสวยงาม ดังพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ของเจ้าพระยาทิพาราชวงศ์ กล่าวไว้ว่า
"ครั้นมาถึงเดือน ๑๒ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ แรมค่ำหนึ่งพิธีจองเปรียงนั้น เดิมได้โปรดให้ขอแรง พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้า ฝ่ายใน และข้าราชการที่มีกำลังพาหนะมาทำกระทงใหญ่ ผู้ถูกเกณฑ์ต่อเป็นถังบ้าง ทำเป็นแพหยวกบ้าง กว้าง ๘ ศอกบ้าง ๙ ศอกบ้าง กระทงสูงตลอดยอด ๑๐ ศอก ๑๑ ศอก ทำประกวดประขันกันต่างๆ ทำอย่างเขาพระสุเมรุทวีปทั้ง ๔ บ้าง และทำเป็นกระจาดชั้นๆบ้าง วิจิตรไปด้วยเครื่องสด คนทำก็นับร้อย คิดในการลงทุนทำกระทงทั้งค่าเลี้ยงคนและพระช่าง เบ็ดเสร็จก็ถึง ๒๐ ชั่งบ้าง ย่อมกว่า ๒๐ ชั่งบ้าง"

ปัจจุบันประเพณีลอยกระทง มีการจัดงานกันแทบทุกจังหวัด ถือเป็นงานประจำปีที่สำคัญ โดยเฉพาะ ที่จังหวัดเชียงใหม่ มีการจัดขบวนแห่กระทงใหญ่ กระทงเล็ก มีการประกวดกระทง และประกวดธิดางามประจำกระทงด้วย

ส่วนการลอยโคม ชาวบ้านทางภาคเหนือและภาคอีสานยังนิยมทำกัน ชาวบ้านจะนำกระดาษ มาทำเป็นโคมขนาดใหญ่สีต่างๆ ถ้าลอยตอนกลางวัน จะทำให้โคมลอยโดยใช้ควันไฟ ถ้าเป็นเวลากลางคืน ก็จะใช้คบจุด ที่ปากโคม ให้ควันพุ่งเข้าในโคม ทำให้ลอยไปตามกระแสลมหนาว เวลากลางคืนแลเห็นแสงไฟโคม บนท้องฟ้า พร้อมกับแสงจันทร์และดวงดาวสวยงามมากทีเดียว



เรื่องน่ารู้ใน วันลอยกระทง

คติที่มาเกี่ยวกับวันลอยกระทง

คติที่มาเกี่ยวกับวันลอยกระทงมีอยู่หลายตำนาน ดังนี้

๑. การลอยกระทง เพื่อขอขมาแก่พระแม่คงคา

๒. การลอยกระทง เพื่อบูชาพระผู้เป็นเจ้าตามคติพราหมณ์ คือบูชาพระนารายณ์ซึ่งบรรทมสินธุ์อยู่ในมหาสมุทร

๓. การลอยกระทง เพื่อต้อนรับพระพุทธเจ้า ในวันเสด็จกลับจากเทวโลก เมื่อครั้งเสด็จไปจำพรรษาอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อทรงเทศนาอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดา

๔. การลอยกระทง เพื่อบูชาพระพุทธบาท ของพระพุทธเจ้า ที่หาดทรายริมแม่น้ำนัมมทานที เมื่อคราวเสด็จไปแสดงธรรมโปรดในนาคพิภพ

๕. การลอยกระทง เพื่อบูชาพระจุฬามณีบนสวรรค์ ซึ่งเป็นที่บรรจุพระเกศาของพระพุทธเจ้า

๖. การลอยกระทง เพื่อบูชาท้าวพกาพรหม บนสวรรค์ชั้นพรหมโลก

๗. การลอยกระทง เพื่อบูชาพระอุปคุตตะเถระ ซึ่งบำเพ็ญเพียรบริกรรมคาถาอยู่ในท้องทะเลลึกหรือสะดือทะเล

ประวัติการลอยกระทงในเมืองไทย

การลอยกระทงในเมืองไทย มีมาตั้งแต่ครั้งสุโขทัย เรียกว่า การลอยพระประทีป หรือลอยโคม เป็นงานนักขัตฤกษ์รื่นเริงของประชาชนทั่วไป ต่อมานางนพมาศหรือท้าวศรีจุฬาลักษณ์สนมเอกของพระร่วง ได้คิดประดิษฐ์ดัดแปลงเป็นรูปกระทงดอกบัวแทนการลอยโคม การลอยกระทงหรือลอยโคมในสมัยนางนพมาศ กระทำเพื่อเป็นการสักการะรอยพระพุทธบาทที่แม่น้ำนัมมทานที ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหนึ่งอยู่ในแคว้นทักขิณาบถของประเทศอินเดีย ปัจจุบันเรียกว่า แม่น้ำเนรพุททา





การลอยกระทงในปัจจุบัน
การลอยกระทงในปัจจุบัน ยังคงรักษารูปแบบเดิมเอาไว้ได้ตามสมควร เมื่อถึงวันเพ็ญพระจันทร์เต็มดวงในเดือน ๑๒ ชาวบ้านจะจัดเตรียมทำกระทงจากวัสดุที่หาง่ายตามธรรมชาติ เช่น หยวกกล้วยและดอกบัว นำมาประดิษฐ์เป็นกระทงสวยงาม ปักธูปเทียนและดอกไม้เครื่องสักการบูชา ก่อนทำการลอยในแม่น้ำก็จะอธิษฐานในสิ่งที่มุ่งหวัง พร้อมขอขมาต่อพระแม่คงคา ตามคุ้มวัดหรือสถานที่จัดงานหลายแห่ง มีการประกวดกระทง ประกวดนางนพมาศ และมีมหรสพสมโภชในตอนกลางคืน นอกจากนั้นยังมีการจุดดอกไม้ไฟ พลุ ตะไล ซึ่งในการเล่นต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ วัสดุที่นำมาใช้กระทง ควรเป็นของที่สามารถย่อยสลายได้ง่ายตามธรรมชาติ
 

 



เหตุผลของการลอยกระทง

สรุปเหตุผลของการลอยกระทงในประเทศไทยดังนี้

๑. เพื่อขอขมาแม่คงคา เพราะได้อาศัยนำท่านกินและใช้ และอีกประการหนึ่งมนุษย์มักจะทิ้งและถ่ายสิ่งปฏิกูลลงไปในน้ำด้วย

๒. เพื่อสักการะรอยพระพุทธบาทนัมมทานที ซึ่งประพุทธเจ้าทรงประทับรอยพระบาทประดิษฐานไว้บนหาดทรายที่แม่น้ำนัมมทานที ในประเทศอินเดีย

๓. เพื่อลอยทุกข์โศกโรคภัย และสิ่งไม่ดี คล้ายกับพิธีลอยบาปของพราหมณ์

๔. เพื่อบูชาพระอุปคุต ชาวไทยภาคเหนือให้ความเคารพแกพระอุปคุตอย่างสูง

ซึ่งตามตำนานเล่าว่าเป็นพระมหาเถระรูปหนึ่งที่มีอิทธิฤทธิ์มากสามารถปราบพญามารได้ การลอยกระทงไม่มีพิธีรีตอง เพียงแต่ขอให้มีกระทงจะทำด้วยอะไรก็ได้ เช่น ใบตอง การกล้วย กาบพลับพลึง เปลือกมะพร้าว กระดาษ จุดธูปเทียนปักที่กระทงแล้วอธิษฐานตามที่ตนปรารถนา เสร็จแล้วจึงลอยไปที่แม่นำลำคลอง




                                                                     วันอาสาฬหบูชา

วันอาสาฬหบูชา

วันอาสาฬหบูชา (บาลี: อาสาฬหปูชา; อังกฤษ: Asalha Puja) เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาของชาวพุทธเถรวาทและวันหยุดราชการในประเทศไทย คำว่า อาสาฬหบูชา ย่อมาจาก "อาสาฬหปูรณมีบูชา" แปลว่า "การบูชาในวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ" อันเป็นเดือนที่สี่ตามปฏิทินของประเทศอินเดีย ตรงกับวันเพ็ญ เดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย ซึ่งมักจะตรงกับเดือนมิถุนายนหรือเดือนกรกฎาคม แต่ถ้าในปีใดมีเดือน 8 สองหนก็ให้เลื่อนไปทำในวันเพ็ญเดือน 8 หลังแทน

วันอาสาฬหบูชาได้รับการยกย่องเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เนื่องจากเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นเมื่อ 45 ปี ก่อนพุทธศักราช ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 คือวันอาสาฬหปุรณมีดิถี หรือวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี แคว้นมคธ อันเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนาเป็นครั้งแรกเป็นปฐมเทศนา คือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แก่ปัญจวัคคีย์]

การแสดงธรรมครั้งนั้นทำให้พราหมณ์โกณฑัญญะ 1 ใน 5 ปัญจวัคคีย์ เกิดความเลื่อมใสในพระธรรมของพระพุทธเจ้า จนได้ดวงตาเห็นธรรมหรือบรรลุเป็นพระอริยบุคคลระดับโสดาบัน ท่านจึงขออุปสมบทในพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า ด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา พระอัญญาโกณฑัญญะจึงกลายเป็นพระสงฆ์องค์แรกในโลก และด้วยเหตุที่ท่านได้บรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคล (อนุพุทธะ) เป็นคนแรก จึงทำให้ในวันนั้นมีพระรัตนตรัยครบองค์สามบริบูรณ์เป็นครั้งแรกในโลก คือ มีทั้งพระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้วันนี้ถูกเรียกว่า "วันพระธรรม" หรือ วันพระธรรมจักร อันได้แก่วันที่ล้อแห่งพระธรรมของพระพุทธเจ้าได้หมุนไปเป็นครั้งแรก และ "วันพระสงฆ์" คือวันที่มีพระสงฆ์เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก อีกด้วย

เดิมนั้นไม่มีการประกอบพิธีการบูชาในเดือน 8 หรือวันอาสาฬหบูชาในประเทศพุทธเถรวาทมาก่อน จนมาในปีพ.ศ. 2501 การบูชาในเดือน 8 หรือวันอาสาฬหบูชาจึงได้เริ่มมีขึ้นในประเทศไทย ตามที่คณะสังฆมนตรี ได้กำหนดให้วันนี้เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาของประเทศไทยอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2501 โดยคณะสังฆมนตรีได้มีมติให้เพิ่มวันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาในประเทศไทย ตามคำแนะนำของ พระธรรมโกศาจารย์ (ชอบ อนุจารี) โดยคณะสังฆมนตรีได้ออกเป็นประกาศสำนักสังฆนายกเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคมพ.ศ. 2501 กำหนดให้วันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาพร้อมทั้งกำหนดพิธีอาสาฬหบูชาขึ้นอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยมีพิธีปฏิบัติเทียบเท่ากับวันวิสาขบูชาอันเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาสากล

 

อย่างไรก็ตาม วันอาสาฬหบูชาถือเป็นวันสำคัญที่กำหนดให้กับวันหยุดของรัฐเพียงแต่ในประเทศไทยเท่านั้น ส่วนในต่างประเทศที่นับถือพุทธศาสนานิกายเถรวาทอื่น ๆ ยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับวันอาสาฬหบูชาเทียบเท่ากับวันวิสาขบูชา

 

ความสำคัญ

วันอาสาฬหบูชา หรือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมที่ทรงตรัสรู้เป็นครั้งแรก จึงถือได้ว่าวันนี้เป็นวันเริ่มต้นประกาศพระพุทธศาสนาแก่ชาวโลก และด้วยการที่พระพุทธเจ้าทรงสามารถ แสดง เปิดเผย ทำให้แจ้ง แก่ชาวโลก ซึ่งพระธรรมที่ทรงตรัสรู้ได้ จึงถือได้ว่าพระองค์ได้ทรงกลายเป็นสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยสมบูรณ์ คือทรงสำเร็จภารกิจแห่งการเป็นพระพุทธเจ้าผู้เป็น "สัมมาสัมพุทธะ" คือทรงเป็นพระพุทธเจ้าผู้สามารถแสดงสิ่งที่ทรงตรัสรู้ให้ผู้อื่นรู้ตามได้ ซึ่งแตกต่างจาก "พระปัจเจกพุทธเจ้า" ที่แม้จะตรัสรู้เองได้โดยชอบ แต่ทว่าไม่สามารถสอนหรือเปิดเผยให้ผู้อื่นรู้ตามได้ ด้วยเหตุนี้วันอาสาฬหบูชาจึงมีชื่อเรียกว่า "วันพระธรรม"

วันอาสาฬหบูชา เป็นวันที่ท่านโกณฑัญญะได้บรรลุธรรมสำเร็จพระโสดาบันเป็นพระอริยบุคคลคนแรก และได้รับประทานเอหิภิกขุอุปสมบทเป็นพระสงฆ์องค์แรกในพระศาสนา และด้วยการที่ท่านเป็นพระอริยสงฆ์องค์แรกในโลกดังกล่าว พระรัตนตรัยจึงครบองค์สามบริบูรณ์เป็นครั้งแรกในโลก ด้วยเหตุนี้วันอาสาฬหบูชาจึงมีชื่อเรียกว่า "วันพระสงฆ์

ดังนั้น วันอาสาฬหบูชาจึงถูกจัดขึ้นเพื่อเป็นการระลึกถึงวันคล้ายวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญของพระพุทธศาสนาดังกล่าว ซึ่งควรพิจารณาเหตุผลโดยสรุปจากประกาศสำนักสังฆนายกเรื่องกำหนดพิธีอาสาฬหบูชา ที่ได้สรุปเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในวันอาสาฬหบูชาไว้โดยย่อ ดังนี้

1.เป็นวันแรกที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระพุทธศาสนา

2.เป็นวันแรกที่พระบรมศาสดาทรงแสดงพระธรรมจักร์ ประกาศสัจจธรรม อันเป็นองค์แห่งพระสัมมาสัมโพธิญาณ

3.เป็นวันที่พระอริยสงฆ์สาวกองค์แรกบังเกิดขึ้นในโลก คือ พระอัญญาโกณฑัญญะ ได้รับประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทา ในวันนั้น

เป็นวันแรกที่บังเกิดสังฆรัตนะ สมบูรณ์เป็นพระรัตนตรัย คือ พระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ พระสังฆรัตนะ

เหตุการณ์สำคัญที่เกิดในวันอาสาฬหบูชาในพระพุทธประวัติ

หลังจากได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ณ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคมแล้ว พระองค์ได้ประทับเสวยวิมุตติสุขอยู่บริเวณสัตตมหาสถานโดยรอบต้นพระศรีมหาโพธิ์เป็นเวลาถึง 7 สัปดาห์

และในขณะทรงนั่งประทับเสวยวิมุตติสุขในสัปดาห์ที่ 5 หลังการตรัสรู้ ภายใต้ต้นอชปาลนิโครธ ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ได้ทรงมานั่งคำนึงว่าสิ่งที่พระองค์ตรัสรู้นั้นเป็นของลึกซึ้ง คนจะรู้และเข้าใจตามได้ยาก ตามความในมัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ว่า ... บัดนี้ ไม่สมควรที่เราจะประกาศธรรมที่เราตรัสรู้ เพราะธรรมที่เราตรัสรู้นั้นเป็นสิ่งที่คนทั่วไป ที่ถูกราคะ โทสะครอบงำอยู่จะไม่สามารถมองเห็นได้โดยง่าย, คนที่ถูกราคะย้อมไว้ ถูกกองมืด (คืออวิชชา) หุ้มไว้มิดทั้งหลาย ย่อมไม่สามารถที่จะเข้าใจธรรมะของเราที่เป็นสิ่งทวนกระแส (อวิชชา) ที่มีสภาพลึกซึ้ง ละเอียดเช่นนี้ได้เลย...(มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ทรงท้อพระทัยในการแสดงธรรม)

พรหมอาราธนา

ตามความในคัมภีร์มัชฌิมนิกาย เมื่อพระพุทธองค์ดำริจะไม่แสดงธรรมเช่นนี้ ปรากฏว่าท้าวสหัมบดีพรหมได้ทราบความดังกล่าวจึงคิดว่า "โลกจะฉิบหายละหนอ เพราะจิตของพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าน้อมไปเพื่อความเป็นผู้มีความขวนขวายน้อย ไม่น้อมไปเพื่อแสดงธรรม" ท้าวสหัมบดีพรหม จึงเสด็จลงจากพรหมโลกเพื่อมาอาราธนาให้พระพุทธองค์ทรงตัดสินใจที่จะทรงแสดงพระธรรมที่ทรงตรัสรู้แก่คนทั้งหลาย โดยท้าวสหัมบดีพรหมได้กล่าวว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์เถิด ขอพระสุคตจงทรงแสดงธรรมเถิด สัตว์ทั้งหลาย ผู้มีกิเลสดุจธุลีในจักษุน้อยมีอยู่ ย่อมจะเสื่อมเพราะไม่ได้ฟังธรรม สัตว์ทั้งหลายผู้รู้ทั่วถึงธรรมจักยังมีอยู่" จากนั้นท้าวสหัมบดีพรหม ได้กล่าวอาราธนาเป็นนิพนธ์คาถาอีก ใจความโดยสรุปว่า

... ขณะนี้ ธรรมะที่ไม่บริสุทธิ์ได้เกิดขึ้นในแคว้นมคธมาเนิ่นนาน. ขอให้พระองค์เปิดประตูนิพพานอันไม่ตาย เพื่อสัตว์ทั้งหลายจักได้ฟังธรรมและตรัสรู้ตามเถิด, คนยืนบนยอดเขา ย่อมเห็นได้โดยรอบฉันใด. ข้าแต่พระองค์ พระองค์ย่อมเห็น! พระองค์เห็นเหล่าสรรพสัตว์ทั้งหลาย ที่จมอยู่ในความทุกข์โศกทั้งปวง ถูกความเกิดแก่เจ็บตายครอบงำอยู่ไหม!. ลุกขึ้นเถิดพระองค์ผู้กล้า! พระองค์ผู้ชนะสงคราม (คือกิเลส) แล้ว!... ขอพระองค์เสด็จจาริกไปในโลกเถิด, ขอพระองค์จงทรงแสดงธรรมเถิด สัตว์ที่จะรู้ทั่วถึงธรรมของพระองค์ มีอยู่แน่นอน.. มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ คาถาพรหมอาราธนา

บุคคลเปรียบบัวสามเหล่า-ตัดสินใจแสดงธรรม

หลังจากพระพุทธองค์ทรงพิจารณาตามคำเชื้อเชิญของสหัมบดีพรหมที่เชิญให้พระองค์แสดงธรรม พระพุทธองค์จึงทรงพิจารณาตรวจสัตว์โลกด้วยพุทธจักษุ และทรงเห็นว่า สัตว์โลกที่ยังสอนได้มีอยู่ เปรียบด้วยดอกบัว 3 จำพวก พวกที่จักสอนให้รู้ตามพระองค์ได้ง่ายก็มี พวกที่สอนได้ยากก็มี ฯลฯ ดังความต่อไปนี้

... ครั้นอาตมภาพทราบว่าท้าวสหัมบดีพรหมอาราธนา และอาศัยความกรุณาในสัตว์ทั้งหลาย จึงตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุ. เมื่ออาตมภาพตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุ ก็ได้เห็นหมู่สัตว์ซึ่งมีกิเลสดุจธุลีในจักษุน้อยก็มี มีกิเลสดุจธุลีในจักษุมากก็มี มีอินทรีย์แก่กล้าก็มี มีอินทรีย์อ่อนก็มี มีอาการดีก็มี มีอาการเลวก็มี จะพึงสอนให้รู้ได้ง่ายก็มี จะพึงสอนให้รู้ได้ยากก็มี บางพวกมีปกติเห็นโทษในปรโลกโดยเป็นภัยอยู่ก็มี เปรียบเหมือนในกอบัวขาบ ในกอบัวหลวง หรือในกอบัวขาว ดอกบัวขาบ ดอกบัวหลวง หรือดอกบัวขาว ซึ่งเกิดในน้ำ เจริญในน้ำ บางเหล่ายังไม่พ้นน้ำ จมอยู่ในน้ำ น้ำหล่อเลี้ยงไว้ บางเหล่า ตั้งอยู่เสมอน้ำ บางเหล่า ตั้งขึ้นพ้นน้ำ น้ำไม่ติด ฉันใด ดูกรราชกุมาร เมื่ออาตมภาพตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุ ก็ฉันนั้น ได้เห็นหมู่สัตว์ซึ่งมีกิเลสดุจธุลีในจักษุน้อยก็มี มีกิเลสดุจธุลีในจักษุมากก็มี มีอินทรีย์แก่กล้าก็มี มีอินทรีย์อ่อนก็มี มีอาการดีก็มี มีอาการเลวก็มี จะพึงสอนให้รู้ได้ง่ายก็มี จะพึงสอนให้รู้ได้ยากก็มี บางพวกมีปกติเห็นโทษในปรโลกโดยเป็นภัยอยู่ก็มี...(มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ทรงเปรียบบุคคลด้วยดอกบัว ๓ เหล่า)

ด้วยเหตุที่พระพุทธองค์พิจารณาบุคคลเปรียบด้วยบัวสามเหล่าดังกล่าว พระพุทธองค์จึง ทรงตัดสินใจที่จะแสดงธรรม เพราะทรง อาศัยบุคคลที่สามารถตรัสรู้ธรรมตามพระองค์ได้เป็นหลัก ดังความที่ปรากฏใน อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ว่า

 

... บุคคลบางคนในโลกนี้ ได้เห็นพระตถาคต ได้ฟังธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว จึงหยั่งลงสู่ความแน่นอนมั่นคงและความถูกต้องในกุศลธรรมทั้งหลาย เมื่อไม่ได้เห็น ไม่ได้ฟัง ย่อมไม่หยั่งลงสู่ความแน่นอนมั่นคงและความถูกต้อง

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บรรดาบุคคล ๓ จำพวกนั้น เพราะเห็นแก่ บุคคลผู้ได้เห็นพระตถาคต ได้ฟังธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว จึงหยั่งลงสู่ความแน่นอนถูกต้องในกุศลธรรม เมื่อไม่ได้เห็นไม่ได้ฟัง ย่อมไม่หยั่งลง เราจึงอนุญาตการแสดงธรรมไว้ และก็เพราะ อาศัยบุคคลเหล่านี้เป็นหลักอีกเหมือนกัน จึงจำต้องแสดงธรรมแก่บุคคลประเภทอื่นด้วย...(อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต คิลานสูตร สูตรที่ ๒)

หาผู้รับปฐมเทศนา

หลังจากทรงตั้งพระทัยที่จะนำสิ่งที่พระองค์ตรัสรู้มาสอนแก่มนุษย์ทั้งหลาย พระองค์ได้ทรงพิจารณาหาบุคคลที่สมควรจะแสดงธรรมที่พระองค์ได้ตรัสรู้โปรดก่อนเป็นบุคคลแรก ในครั้งแรกพระองค์ทรงระลึกถึง อาฬารดาบสกาลามโคตร และ อุทกดาบสรามบุตร ก่อน ซึ่งทั้งสองท่านเป็นพระอาจารย์ที่พระองค์ได้เข้าไปศึกษาในสำนักของท่านก่อนปลีกตัวออกมาแสวงหาโพธิญาณด้วยพระองค์เอง ก็ทรงทราบว่าทั้งสองท่านได้เสียชีวิตแล้ว จึงได้ทรงระลึกถึงปัญจวัคคีย์ทั้งห้า ผู้ที่เคยอุปัฏฐากพระองค์ในระหว่างที่ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา และทรงทราบด้วยพระญาณว่า ปัญจวัคคีย์พำนักอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี พระองค์จึงตั้งใจเสด็จไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวันเพื่อแสดงธรรมโปรดปัญจวัคคีย์ทั้งห้าเป็นครั้งแรก

เสด็จสู่พาราณสี-โปรดปัญจวัคคีย์

พระพุทธองค์ใช้กว่า 11 วัน เป็นระยะทางกว่า 260 กิโลเมตร เพื่อเสด็จจากตำบลอุรุเวลา ตำบลที่ตรัสรู้ ไปยังที่พักของเหล่าปัญจวัคคีย์ (สถานที่แห่งนี้ชาวพุทธในยุคหลังได้สร้างสถูปขนาดใหญ่ไว้ ปัจจุบันเหลือเพียงซากกองอิฐมหึมา เรียกว่า เจาคันธีสถูป) เมื่อพระองค์เสด็จไปถึงที่อยู่ของเหล่าปัญจวัคคีย์ในวันเพ็ญเดือน 8 (อาสาฬหมาส) ขณะที่พระองค์กำลังเสด็จเข้าไปที่พักของเหล่าปัญจวัคคีย์ ปัญจวัคคีย์ได้เห็นพระพุทธเจ้ามาแต่ไกล ด้วยเหตุที่ปัญจวัคคีย์รังเกียจว่า "เจ้าชายสิทธัตถะผู้ได้เลิกการบำเพ็ญทุกขกิริยาหันมาเสวยอาหารเป็นผู้หมดโอกาสบรรลุธรรมได้เสด็จมา" จึงได้นัดหมายกันและกันว่า "พวกเราไม่พึงอภิวาท ไม่พึงลุกขึ้นต้อนรับพระองค์ ไม่พึงรับบาตรจีวรของพระองค์ แต่พึงวางอาสนะไว้ ถ้าพระองค์ปรารถนาจะนั่งก็จักประทับนั่งเอง"

ครั้นพระพุทธเจ้าเสด็จเข้าไปถึงกลุ่มพระปัญจวัคคีย์ พระปัญจวัคคีย์นั้นกลับลืมข้อตกลงที่ตั้งกันไว้แต่แรกเสียสิ้น ต่างลุกขึ้นมาต้อนรับพระพุทธเจ้า รูปหนึ่งรับบาตรจีวรของพระผู้มีพระภาค รูปหนึ่งปูอาสนะ รูปหนึ่งจัดหาน้ำล้างพระบาท รูปหนึ่งจัดตั้งตั่งรองพระบาท รูปหนึ่งนำกระเบื้องเช็ดพระบาทเข้าไปถวาย พระพุทธเจ้าจึงประทับนั่งบนอาสนะที่พระปัญจวัคคีย์จัดถวายไว้

 

พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า "เราตถาคตเป็นอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ พวกเธอจงเงี่ยโสตสดับ เราได้บรรลุอมฤตธรรมแล้ว เราจะสั่งสอน จะแสดงธรรม พวกเธอปฏิบัติอยู่ตามที่เราสั่งสอนแล้ว ไม่ช้าสักเท่าไร 'จักทำให้เข้าใจแจ้งซึ่งคุณอันยอดเยี่ยม อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์' ที่คนทั้งหลายผู้พากันออกบวชจากเรือนต้องการ ด้วยปัญญาอันยิ่ง ด้วยตนเอง"

แรกทีเดียวพระปัญจวัคคีย์ยังไม่เชื่อว่าพระพุทธองค์ทรงเป็นอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ จึงค้านถึงสามครั้งว่า"แม้ด้วยจริยานั้น แม้ด้วยปฏิปทานั้น แม้ด้วยทุกกรกิริยานั้น พระองค์ก็ยังไม่ได้บรรลุอุตตริมนุสสธรรม อันเป็นความรู้ความเห็นพิเศษ อย่างประเสริฐ อย่างสามารถ (อุตตริมนุสสธรรมอลมริยญาณทัสสนวิเสส) ก็บัดนี้พระองค์เป็นผู้มักมาก คลายความเพียรเวียนมาเพื่อความเป็นคนมักมาก ไฉนจักบรรลุอุตตริมนุสสธรรม อันเป็นความรู้ ความเห็นพิเศษอย่างประเสริฐอย่างสามารถได้เล่า"

พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า "พวกเธอยังจำได้หรือว่า เราได้เคยพูดถ้อยคำเช่นนี้มาก่อน" และตรัสว่า... ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ท่านทั้งหลายจงเงี่ยโสตลงเถิด เราจะสั่งสอนอมตธรรมที่เราบรรลุแล้ว เราจะแสดงธรรม เมื่อท่านทั้งหลายปฏิบัติตามที่เราสั่งสอนอยู่ ไม่ช้าเท่าไรก็จักทำให้แจ้งซึ่งที่สุดพรหมจรรย์ อันไม่มีธรรมอื่นยิ่งไปกว่า ที่กุลบุตรทั้งหลายออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการ ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน แล้วเข้าถึงอยู่...(มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์)

ด้วยพระดำรัสดังกล่าว พระปัญจวัคคีย์จึงได้ยอมเชื่อฟังพระพุทธองค์ เงี่ยโสตสดับ ตั้งจิตเพื่อรู้ยิ่ง

ประกาศพระสัจธรรม-แสดงปฐมเทศนา

เมื่อปัญจวัคคีย์ตั้งใจเพื่อสดับพระธรรมของพระองค์แล้วพระพุทธองค์ทรงจึงทรงพาเหล่าปัญจวัคคีย์ไปสู่ป่าอิสิปตนมฤคทายวันอันร่มรื่น แล้วทรงแสดง ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร (ฟัง) ซึ่งเรียกว่า "ปฐมเทศนา" เป็นการยังธรรมจักรคือการเผยแผ่พระธรรมให้เป็นไปเป็นครั้งแรกในโลก

พระพุทธองค์ทรงกล่าวสรุปถึงเนื้อหาของการแสดงพระปฐมเทศนาไว้ในสัจจวิภังคสูตร มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ ว่า   ... ภิกษุทั้งหลาย! ตถาคตผู้อรหันตสัมมาสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ประกาศอนุตตรธรรมจักรให้เป็นไปแล้ว ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้นครพาราณสี, เป็นพระธรรมจักรที่สมณะพราหมณ์, เทพ มาร พรหม หรือใคร ๆ ในโลก จะต้านทานให้หมุนกลับไม่ได้ (คือความจริงที่ไม่มีผู้ใดปฏิเสธได้) ข้อนี้คือ การบอก การแสดง การบัญญัติ การแต่งตั้ง การเปิดเผย การจำแนก และการทำให้ง่าย ซึ่งความจริงอันประเสริฐสี่ประการ: สี่ประการนั้นได้แก่ ความจริงอันประเสริฐคือความทุกข์, ความจริงอันประเสริฐคือเหตุให้เกิดทุกข์, ความจริงอันประเสริฐคือความดับไม่เหลือแห่งทุกข์, และความจริงอันประเสริฐคือทางที่ทำให้ผู้ปฏิบัติตามลุถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์...(มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ สัจจวิภังคสูตร)

เมื่อพระพุทธองค์ตรัสแสดงพระปฐมเทศนานี้อยู่ ดวงตาเห็นธรรม ได้เกิดขึ้นแก่ท่านพระโกณฑัญญะว่า "สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวล ล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา" ท่านโกณฑัญญะได้สำเร็จเป็นพระอริยบุคคลแล้ว

พระพุทธองค์ทรงทราบความที่พระโกณฑัญญะเป็นผู้ได้ดวงตาเห็นธรรม มีความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งในคำสอนของพระองค์[ จึงทรงเปล่งพระอุทานว่า "อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ" ท่านผู้เจริญ ท่านโกณฑัญญะ รู้แล้วหนอ เพราะเหตุนั้น คำว่า "อัญญา" นี้ จึงได้เป็นคำนำหน้าชื่อของท่านพระโกณฑัญญะ

 

เมื่อท่านพระโกณฑัญญะได้บรรลุโสดาบันแล้ว จึงได้กราบทูลขอบรรพชาอุปสมบท พระพุทธองค์จึงทรงประทาน เอหิภิกขุอุปสัมปทา ว่า "เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด"

ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะจึงนับเป็น "พระสงฆ์อริยสาวกองค์แรก" ในพระพุทธศาสนา1 ซึ่งวันนั้นเป็นวันเพ็ญกลางเดือนอาสาฬหะ หรือเดือน 8 เป็น วันที่พระรัตนตรัยครบบริบูรณ์ บังเกิดขึ้นในโลกเป็นครั้งแรก คือมี "พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์" ครบบริบูรณ์

ปัจจุบันสถานที่พระพุทธเจ้าประกาศพระอนุตตรสัจธรรมเป็นครั้งแรก และสถานที่บังเกิดพระสงฆ์องค์แรกในโลก อยู่ในบริเวณที่ตั้งของ ธรรมเมกขสถูป (แปลว่า: สถูปผู้เห็นธรรม) ภายในอิสิปตนมฤคทายวัน หรือ สารนาถในปัจจุบัน
 


สถานที่สำคัญเนื่องด้วยวันอาสาฬหบูชา

เหตุการณ์สำคัญที่เกิดในวันอาสาฬหบูชา เกิดในบริเวณที่ตั้งของ กลุ่มพุทธสถานสารนาถ ภายในอาณาบริเวณของป่าอิสิปตนมฤคทายวัน 9 กิโลเมตรเศษ ทางเหนือของเมืองพาราณสี อันเป็นเมืองศูนย์กลางทางศาสนาของศาสนาพราหมณ์ สมัยนั้นแถบนี้อยู่ใน แคว้นมคธ ชมพูทวีป ในสมัยพุทธกาล (ในปัจจุบันอยู่ใน รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย) ปัจจุบัน สารนาถ จัดเป็นพุทธสังเวชนียสถานแห่งที่ 3 (1 ใน 4 แห่งของชาวพุทธ)
เหตุที่ได้ชื่อว่าสารนาถเนื่องมาจากสถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่พระพุทธเจ้าทรงเริ่มต้นประกาศพระพุทธศาสนาเพื่อเป็นที่พึ่งแก่มหาชนทั้งหลาย แต่บ้างก็ว่ามาจากศัพท์ว่า สารงฺค+นารถ = ที่อยู่ของสัตว์จำพวกกวาง
ภายในอาณาบริเวณสารนาถมี ธรรมเมกขสถูป เป็นพุทธสถานขนาดใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุด สันนิษฐานว่าบริเวณที่ตั้งของธรรมเมกขสถูป เป็นสถานที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาประกาศพระสัจจธรรมเป็นครั้งแรกที่นี่ และ เจาคันธีสถูป อยู่ไม่ไกลจากสารนาถ เป็นมหาสถูปที่สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงสถานที่พำนักของเหล่าปัญจวัคคีย์ และสถานที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาทรงพบกับเหล่าปัญจวัคคีย์ครั้งแรก ณ จุดนี้ ก่อนที่จะพาไปแสดงปฐมเทศนาในสารนาถ
ความสำคัญและสภาพสารนาถในสมัยพุทธกาล
สารนาถในสมัยพุทธกาล เรียกกันว่า ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แปลว่า เขตป่าอภัยทานแก่สัตว์ที่เป็นที่บำเพ็ญตบะของฤษี เป็นสถานที่สงบและเป็นที่ชุมนุมของเหล่าฤษีและนักพรตต่าง ๆ ที่มาบำเพ็ญตบะและโยคะเพื่อเข้าถึงพรหมมันตามความเชื่อในคัมภีร์อุปนิษัทของพรามหณ์ ทำให้เหล่าปัจจวัคคีย์ที่ปลีกตัวมาจากเจ้าชายสิทธัตถะ ภายหลังจากที่พระองค์ทรงเลิกบำเพ็ญทุกขกริยา ได้มาบำเพ็ญตบะที่นี่แทน
หลังจากพระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา และเทศน์โปรดปัญวัคคีย์จนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ทั้งหมดแล้วได้ทรงพักจำพรรษาแรก ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน พร้อมกับเหล่าปัญจวัคคีย์ ซึ่งในระหว่างจำพรรษาแรก พระองค์ได้สาวกเพิ่มกว่า 45 องค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระยสะและบริวารของท่าน 44 องค์ ซึ่งรวมถึงบิดามารดาและภรรยาของพระยสะ ที่ได้มาฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธองค์และได้ยอมรับนับถือเป็นอุบาสกอุบาสิกาที่ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะคู่แรกในโลกด้วย ทำให้ในพรรษาแรกที่พระพุทธเจ้าทรงจำพรรษาที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน มีพระอรหันต์ในโลกรวม 60 องค์ และองค์พระพุทธเจ้า
นอกจากนี้ ในบริเวณสารนาถ ยังเป็นสถานที่สำคัญที่พระพุทธองค์ทรงประกาศเริ่มต้นส่งให้พระสาวกกลุ่มแรกออกไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาหลังจากทรงจำพรรษาแรกแล้ว (เชื่อกันว่าเป็นจุดที่เดียวกับที่พระพุทธองค์ทรงแสดงปฐมเทศนา คือธรรมเมกขสถูป) ดังปรากฏความตอนนี้ใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรคว่า ...ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเที่ยวจาริกไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนหมู่มาก เพื่อความสุขแก่ชนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เธอทั้งหลายอย่าได้ไปด้วยกัน ๒ รูป โดยทางเดียวกัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงแสดงธรรม งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง...(สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ทุติยปาสสูตรที่ ๕)
และด้วยเหตุทั้งหลายดังกล่าวมานี้ สารนาถจึงได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งศูนย์กลางพระพุทธศาสนาแห่งแรกมาตั้งแต่นั้น
ซึ่งในช่วงหลังจากพระพุทธองค์เสด็จออกจากสารนาถหลังประกาศส่งพระสาวกออกเผยแพร่ศาสนานั้น ไม่ปรากฏในหลักฐานในพระไตรปิฎกว่ามีการสร้างอารามหรือสิ่งก่อสร้างในป่าสารนาถแห่งนี้ ทำให้สันนิษฐานได้ว่าสิ่งก่อสร้างใหญ่โตคงจะได้มาเริ่มสร้างขึ้นกันในช่วงหลังที่พระพุทธศาสนาได้รุ่งเรืองมั่นคงในแคว้นมคธแล้ว
สารนาถหลังพุทธกาล
หลังพุทธกาล ประมาณ 300 ปี พระเจ้าอโศกมหาราชได้เสด็จมาที่สารนาถ ในปี พ.ศ. 295 ครั้งนั้นพระองค์ได้พบว่ามีสังฆารามใหญ่โตที่สารนาถแล้ว ในครั้งนั้นพระองค์ได้ทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์ในการบูรณะและก่อสร้างศาสนสถานเพิ่มเติมในสารนาถครั้งใหญ่ โดยพระองค์ได้สร้างสถูปและสิ่งต่าง ๆ มากมายในบริเวณกลุ่มสถานที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมธรรมเทศนาและพระธรรมเทศนาอื่น ๆ แก่เบญจวัคคีย์ และหมู่คันธกุฎีของพระพุทธเจ้า ในบริเวณสารนาถ เพื่อถวายเป็นอนุสรณียสถานแก่พระพุทธเจ้า
กลุ่มพุทธสถานเหล่านี้ได้เจริญรุ่งเรืองต่อมาจนถึงขีดสุดในสมัยราชวงศ์คุปตะ ตามบันทึกของพระถังซำจั๋ง(Chinese traveler Hiuen-Tsang) ซึ่งได้จาริกมาราว พ.ศ. 1280 ท่านได้กล่าวไว้ในบันทึกของท่านว่า ท่านได้พบสังฆารามใหญ่โต มีพระอยู่ประจำ 1,500 รูป ภายในกำแพงมีวิหารหลังหนึ่งสูงกว่า 33 เมตร มีบันไดทางขึ้นปูด้วยแผ่นหินกว่า 100 ขั้น กำแพงบันไดก่อด้วยอิฐเป็นขั้น ๆ ประดับด้วยพระพุทธรูปปางปฐมเทศนา ทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของวิหารมีสถูปหินอ่อนสูง 70 ฟุต (เสาอโศก) บนยอดเสามีรูปสิงห์สี่ตัวเป็นมันวาวราวกับหยกใสสะท้อนแสง มหาสถูป (ธรรมเมกขสถูป) มีพระพุทธรูปทองคำประดิษฐานอยู่ทุกช่อง ฯลฯ
กลุ่มพุทธสถานสารนาถได้เจริญรุ่งเรืองสลับกับความเสื่อมเป็นช่วง ๆ ต่อมา จนในที่สุดได้ถูกกองทัพมุสลิมเตอร์กบุกเข้ามาทำลายในปี พ.ศ. 1737ทำให้มหาสังฆารามและพุทธวิหารในสารนาถถูกทำลายล้างและถูกทิ้งร้างไปอย่างสิ้นเชิงในระยะต่อมากว่า 700 ปี เหลือเพียงกองดินและมหาสถูปใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธรรมเมกขสถูปและเจาคันธีสถูป ที่เป็นกองสถูปอิฐใหญ่โตมาก
สภาพของสารนาถหลังจากนั้นกลายเป็นกองดินกองอิฐมหึมา ทำให้หลังจากนั้น ชาวบ้านได้เข้ามารื้ออิฐจากสารนาถไปก่อสร้างอาคารในเมืองพาราณสีเป็นระยะ ๆ ซึ่งเหตุการณ์ที่สำคัญคือเหตุการณ์ที่ราชาเชตสิงห์ (Chait Singh) มหาราชาแห่งเมืองพาราณสี ได้สั่งให้ชคัตสิงห์อำมาตย์ไปรื้ออิฐเก่าจากสารนาถเพื่อนำไปสร้างตลาดในเมืองพาราณสี (ปัจจุบันตลาดนี้เรียกว่า ชคันคุนช์) โดยได้รื้อมหาธรรมราชิกสถูป ที่สร้างโดยพระเจ้าอโศกมหาราชลง และได้พบกับผอบศิลาสีเขียวสองชั้น ชั้นในมีไข่มุก พลอยและแผ่นเงินทองอยู่ปนกับขี้เถ้าและอัฐิ 3 ชิ้น ซึ่งเป็นพระบรมสารีริกธาตุที่พระเจ้าอโศกมหาราชบรรจุไว้ แต่คชัตสิงห์กลับนำกระดูกไปลอยทิ้งที่แม่น้ำคงคา เพราะเชื่อว่าเจ้าของกระดูกในผอบคงจะไม่ได้ขึ้นสวรรค์เพราะไม่ได้นำกระดูกไปลอยน้ำตามธรรมเนียมฮินดู ในปี พ.ศ. 2337
จนเมื่ออินเดียตกไปอยู่ในความปกครองของอังกฤษในปี พ.ศ. 2420 ทำให้รัฐบาลอังกฤษต้องตั้งเจ้าหน้าที่มาขุดค้นอย่างถูกต้องตามหลักโบราณคดี โดยสานงานต่อจากพันเอกแมคแคนซี่ ที่เข้ามาดูแลการขุดค้นตั้งแต่ปีพ.ศ. 2358 ซึ่งใช้เวลากว่าร้อยปีจึงจะขุดค้นสำเร็จในปี พ.ศ. 2465 ในสมัยที่ท่าน เซอร์ อเล็กซานเดอร์ คันนิ่งแฮม เป็นหัวหน้ากองโบราณคดีอินเดีย จนช่วงหลังที่ท่านอนาคาริก ธรรมปาละ ชาวศรีลังกา ได้มาบูรณะฟื้นฟูสารนาถให้เป็นศูนย์รวมจิตใจชาวพุทธขึ้นใหม่อีกครั้ง โดยท่านได้ซื้อที่เพื่อสร้างวัดมูลคันธกุฏีวิหารใหม่ ซึ่งนับเป็นวัดพระพุทธศาสนาแห่งแรกในบริเวณสารนาถหลังจากถูกทำลายหลังจากนั้นเป็นต้นมา สารนาถได้รับการบูรณะจากรัฐบาลอินเดียเรื่อยมา ทำให้สารนาถกลายเป็นจุดหมายปลายทางในการแสวงบุญที่สำคัญแห่งหนึ่งของชาวพุทธทั่วโลกมาจนถึงปัจจุบัน
จุดที่ชาวพุทธไปทำบุญบุญและสภาพของสารนาถในปัจจุบัน
ปัจจุบัน สถานที่แสวงบุญในบริเวณสารนาถได้รับการขุดค้นบ้างเป็นบางส่วน บางส่วนก็ยังคงจมอยู่ใต้ดิน แต่ซากพุทธสถานสำคัญ ๆ ส่วนใหญ่ในพุทธประวัติก็ได้รับการขุดค้นขึ้นมาหมดแล้ว เช่น
ธรรมเมกขสถูป สถานที่พระพุทธเจ้าแสดงปฐมเทศนาและประกาศส่งพระสาวกไปเผยแพร่พระศาสนา
ยสสถูป สถานที่พระพุทธเจ้าทรงพบท่านยสะ ซึ่งต่อมาได้บรรลุเป็น
พระอรหันตสาวกองค์ที่ 6 ในโลก

รากฐานธรรมราชิกสถูป สถานที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงอนัตตลักขณะสูตร และสถานที่เคยประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ

พระมูลคันธกุฏี พระคันธกุฏีที่ประทับจำพรรษาของพระพุทธองค์ในพรรษาแรก

ซากเสาพระเจ้าอโศกมหาราช ซึ่งหักเป็น 5 ท่อน ในอดีตเสานี้เคยมีความสูงถึง 70 ฟุต และบนยอดเสามีรูปสิงห์ 4 หัวอีกด้วย ปัจจุบันสิงห์ 4 หัว ได้เหลือรอดจากการทำลายและรัฐบาลอินเดียได้เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สารนาถ โดยสิงห์ 4 หัวนี้ ได้ถูกนำมาเป็นสัญลักษณ์ของประเทศอินเดีย และข้อความจารึกของพระเจ้าอโศกมหาราชที่จารึกไว้ใต้รูปสิงห์ดังกล่าวคือ "สตฺยเมว ชยเต" (เทวนาครี: सत्यमेव जयते) หมายถึง "ความจริงชนะทุกสิ่ง"]) และได้ถูกนำมาเป็นคำขวัญประจำชาติของประเทศอินเดียอีกด้วย

 

บริเวณโดยรอบสถานที่สำคัญดังกล่าว มีหมู่พุทธวิหารและซากสถูปมากมายอยู่หนาแน่น แสดงถึงความศรัทธาของคนในอดีตได้เป็นอย่างดี และนอกจากสถานที่สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ในพุทธประวัติแล้ว ผู้มาแสวงบุญยังนิยมมาเยี่ยมชมวัดมูลคันธกุฏีวิหารใหม่ ที่สร้างโดยท่านอนาคาริก ธรรมปาละ พระสงฆ์ชาวศรีลังกา ผู้ฟื้นฟูพุทธสถานสารนาถให้กลายเป็นสถานที่แสวงบุญสำคัญเหมือนในอดีต วัดแห่งนี้เป็นสถานที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่ได้รับมอบจากรัฐบาลอินเดียและวัดนี้ยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่สวยงามมากภายในพุทธวิหารอีกด้วย และใกล้กับสารนาถ เป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์สารนาถ เป็นสถานที่เก็บรวบรวมโบราณวัตถุที่ขุดค้นได้ภายในบริเวณสารนาถ ซึ่งโบราณวัตถุที่สำคัญคือ ยอดหัวสิงห์พระเจ้าอโศก และพระพุทธรูปปางแสดงปฐมเทศนา ซึ่งมีผู้ยกย่องว่ามีความสวยงามมากที่สุดองค์หนึ่งของโลก

สถานที่ที่เกิดเหตุการณ์สำคัญในวันอาสาฬหบูชา (ธรรมเมกขสถูป)

ปัจจุบัน สามารถสันนิษฐานได้ว่าจุดที่เกิดเหตุการณ์สำคัญในวันอาสาฬหบูชา คือที่ตั้งของธรรมเมกขสถูป เพราะแม้ในพระไตรปิฎกจะไม่ระบุว่าจุดใดคือที่ตั้งของสถานที่ทรงแสดงปฐมเทศนา และแม้สารนาถจะถูกทำลายและถูกทอดทิ้งไปนานกว่าเจ็ดร้อยปี แต่ด้วยหลักฐานบันทึกของสมณทูตจีนที่บันทึกไว้และชื่อเรียกของสถูปแห่งนี้ที่มีนามว่า ธรรมเมกขะ ที่แปลว่า "ผู้เห็นธรรม" บอกชัดเจนว่าสถานที่นี้เป็นสถานที่แสดงปฐมเทศนา (ซึ่ง ธรรมเมกขะ เป็นศัพท์จากภาษาบาลีว่า ธมฺม (ธรรม) + อิกข (เห็น) แปลได้ว่า เห็นธรรม หรือสถูปที่อุทิศให้แด่ผู้เห็นธรรม ซึ่งก็ได้แก่พระอัญญาโกณฑัญญะ ที่ได้ดวงตาเห็นธรรมเป็นคนแรกในโลกนั่นเอง)

สถูปธรรมเมกขะในปัจจุบันเป็นโบราณสถานที่มีขนาดใหญ่โตมากที่สุดในสารนาถ แม้สถูปแห่งนี้จะถูกผู้บุกรุกพยายามรื้อถอนทำลายอย่างเป็นระบบหลายครั้ง แต่มหาสถูปองค์นี้ก็ยังคงตั้งอยู่ เป็นโบราณสถานที่เด่นที่สุดในสารนาถจนปัจจุบัน

 

ปัจจุบัน หลังโบราณสถานสารนาถได้รับการบูรณะ รัฐบาลอินเดียได้มีการเทพื้นซีเมนต์รอบธรรมเมกขสถูปและตกแต่งบริเวณโดยรอบเป็นสวนหย่อม เป็นที่สัปปายะ เหมาะแก่การเจริญจิตภาวนาและปฏิบัติธรรม

กิจกรรมที่พุทธศาสนิกชนพึงปฏิบัติในวันอาสาฬหบูชา

 วันอาสาฬหบูชา พุทธศาสนิกชนชาวไทยนิยมทำบุญตักบาตรในตอนเช้า และตลอดวันจะมีการบำเพ็ญบุญกุศลความดีอื่น ๆ เช่น ไปวัดรับศีล งดเว้นการทำบาปทั้งปวง ถวายสังฆทาน ให้อิสระทาน (ปล่อยนกปล่อยปลา) ฟังพระธรรมเทศนา และไปเวียนเทียนรอบโบสถ์ในเวลาเย็น

โดยก่อนทำการเวียนเทียนพุทธศาสนิกชนควรร่วมกันกล่าวคำสวดมนต์และคำบูชาในวันอาสาฬหบูชา โดยปกติตามวัดต่าง ๆ จะจัดให้มีการทำวัตรสวดมนต์ก่อนทำการเวียนเทียน ซึ่งส่วนใหญ่นิยมทำการเวียนเทียนอย่างเป็นทางการ (โดยมีพระภิกษุสงฆ์นำเวียนเทียน) ในเวลาประมาณ 20 นาฬิกา โดยบทสวดมนต์ที่พระสงฆ์นิยมสวดในวันอาสาฬหบูชาก่อนทำการเวียนเทียนนิยมสวด (ทั้งบาลีและคำแปล) ตามลำดับดังนี้

1.บทบูชาพระรัตนตรัย (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:อรหัง สัมมา ฯลฯ)

2.บทนมัสการนอบน้อมบูชาพระพุทธเจ้า (นะโม ฯลฯ ๓ จบ)

3.บทสรรเสริญพระพุทธคุณ (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:อิติปิโส ฯลฯ)

4.บทสรรเสริญพระพุทธคุณ สวดทำนองสรภัญญะ (บทสวดสรภัญญะที่ขึ้นต้นด้วย:องค์ใดพระสัมพุทธ ฯลฯ)

5.บทสรรเสริญพระธรรมคุณ (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:สวากขาโต ฯลฯ)

6.บทสรรเสริญพระธรรมคุณ สวดทำนองสรภัญญะ (บทสวดสรภัญญะที่ขึ้นต้นด้วย:ธรรมมะคือ คุณากร ฯลฯ)

7.บทสรรเสริญพระสังฆคุณ (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:สุปฏิปันโน ฯลฯ)

8.บทสรรเสริญพระสังฆคุณ สวดทำนองสรภัญญะ (บทสวดสรภัญญะที่ขึ้นต้นด้วย:สงฆ์ใดสาวกศาสดา ฯลฯ)

9.บทสวดพระธรรมจักกัปปวัตตนสูตรบาลี (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:เอวัมเม สุตัง เอกัง ฯลฯ) (ฟัง)

10.บทสวดบูชาเนื่องในวันอาสาฬหบูชา (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:ยะมัมหะ โข มะยัง ฯลฯ)

จากนั้นจุดธูปเทียนและถือดอกไม้เป็นเครื่องสักการะบูชาในมือ แล้วเดินเวียนรอบปูชนียสถาน 3 รอบ โดยขณะที่เดินนั้นพึงตั้งจิตให้สงบ พร้อมสวดระลึกถึงพระพุทธคุณ ด้วยการสวดบทอิติปิโส (รอบที่หนึ่ง) ระลึกถึงพระธรรมคุณ ด้วยการสวดสวากขาโต (รอบที่สอง) และระลึกถึงพระสังฆคุณ ด้วยการสวดสุปะฏิปันโน (รอบที่สาม) จนกว่าจะเวียนจบ 3 รอบ จากนั้นนำธูปเทียนดอกไม้ไปบูชาตามปูชนียสถานจึงเป็นอันเสร็จพิธี

หลักธรรมในวันอาสาฬหบูชา

เนื่องด้วย วันอาสาฬหบูชา มีความเกี่ยวข้องอย่างมากกับพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ซึ่งเป็นพระสูตรแรกที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงขึ้นในโลก และได้ทรงแสดงเป็นครั้งแรกในวันอาสาฬหบูชานี้ หลักธรรมสำคัญในพระสูตรบทนี้จึงเป็นธรรมะสำคัญที่พุทธศาสนิกชนควรนำไปพิจารณาและทำความเข้าใจ และอาจจะเรียกได้ว่าหลักธรรมในพระสูตรดังกล่าวเป็นหลักธรรมสำคัญในวันอาสาฬหบูชาซึ่งเนื้อหาในพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตร มี 3 ตอน ดังนี้

         สิ่งที่ไม่ควรเสพสองอย่าง

ส่วนแรกที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง คือ กามสุขัลลิกานุโยค และ อัตตกิลมถานุโยค กล่าวคือทรงแสดงสิ่งที่ไม่ควรเสพสองอย่าง อันได้แก่ การปฏิบัติตนย่อหย่อนสบายกายเกินไป (กามสุขัลลิกานุโยค) และการปฏิบัติตนจนทรมานกายเกินไป (อัตตกิลมถานุโยค) คือทรงแสดงการปฏิเสธลักษณะของลัทธิทั้งปวงที่มีในสมัยนั้นดังนี้

      "ดูกรภิกษุทั้งหลาย ที่สุดสองอย่างนี้อันบรรพชิตไม่ควรเสพ คือ

๑. การประกอบตนให้พัวพันด้วยกามสุขในกามทั้งหลาย เป็นธรรมอันเลว เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์

๒. การประกอบความเหน็ดเหนื่อยแก่ตน เป็นความลำบาก ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ "

(พระไตรปิฎก เล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔ มหาวรรค ภาค ๑ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร)

การที่พระพุทธองค์ตรัสปฏิเสธแนวทางสองอย่างดังกล่าวมาในขณะเริ่มปฐมเทศนา เพื่อแสดงให้รู้ว่า พระพุทธศาสนาไม่ใช่ศาสนาที่สอนให้พ้นจากทุกข์ด้วยการแก้ปัญหานอกกายคือ หนีความทุกข์ด้วยการมัวแต่แสวงหาความสุข (หนีความทุกข์อย่างไม่ยั่งยืน เพราะต้องแสวงหามาปรนเปรอตัณหาไม่สิ้นสุด) หรือหาทางพ้นทุกข์ด้วยการกระทำตนให้ลำบาก (สู้หรืออยู่กับความทุกข์อย่างโง่เขลา ขาดปัญญา ทำตนให้ลำบากโดยใช่เหตุ) เพื่อที่จะทรงขับเน้นหลักการที่พระพุทธองค์จะทรงแสดงต่อไปว่า มีความแตกต่างโดยสิ้นเชิงจากแนวคิดพ้นทุกข์เดิม ๆ ซึ่ง เป็นการประกาศแนวทางพ้นทุกข์ใหม่แก่โลก อันได้แก่การแก้ทุกข์ที่ตัวต้นเหตุ คือ แก้ที่ภายในใจของเราเอง คือ มัชฌิมาปฏิปทา ของพระพุทธองค์

 

 มัชฌิมาปฏิปทา (ทางสายกลาง)
 
หลักธรรมในพระธรรมจักกัปปวัตนสูตร มีจุดเด่นคือเน้นทางสายกลาง ให้มนุษย์มองโลกตามความเป็นจริง (แก้ทุกข์ที่ใจ) เพื่อพบกับความสุขที่ยั่งยืนกว่า
สิ่งที่พระพุทธองค์ทรงแสดงในปฐมเทศนาต่อมาคือ มัชฌิมาปฏิปทา คือ หลังจากทรงกล่าวปฏิเสธแนวทางพ้นทุกข์แบบเดิม ๆ แล้ว ได้ทรงแสดงเสนอแนวทางพ้นทุกข์ใหม่แก่โลก คือ มัชฌิมาปฏิปทา หรือ ทางสายกลาง คือ การปฏิบัติที่ไม่สุดตึงด้านใดด้านหนึ่ง อันได้แก่การดำเนินตามมรรคมีองค์ 8 ซึ่งควรพิจารณาจากข้อความจากพระโอษฐ์โดยตรง ดังนี้
            "ปฏิปทาสายกลาง ไม่เข้าไปใกล้ที่สุดสองอย่างนั้น นั่นตถาคตได้ตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตาให้เกิด ทำญาณให้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน  ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ปฏิปทาสายกลางที่ตถาคตได้ตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตา ให้เกิด ทำญาณให้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน นั้น เป็นไฉน?  ปฏิปทาสายกลางนั้น ได้แก่อริยมรรค มีองค์ 8 นี้แหละ คือปัญญาอันเห็นชอบ 1 ความดำริชอบ 1 เจรจาชอบ 1 การงานชอบ 1 เลี้ยงชีวิตชอบ 1พยายามชอบ 1 ระลึกชอบ 1 ตั้งจิตชอบ 1"   ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้แลคือปฏิปทาสายกลางนั้น ที่ตถาคตได้ตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตาให้เกิด ทำญาณให้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน.(พระไตรปิฎก เล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔ มหาวรรค ภาค ๑ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร)
อริยสัจสี่
สุดท้ายทรงแสดงสิ่งที่ทำให้พระองค์ตรัสรู้ คือทรงแสดงอริยสัจ 4 ประการ และ "กิจ" ที่ควรทำในอริยสัจ 4 ประการ เพื่อการหลุดพ้นจากทุกข์ โดยแก้ที่สาเหตุของทุกข์ กล่าวคือ ทุกข์ ควรรู้ สมุทัย ควรละ นิโรธ ควรทำให้แจ้ง มรรค ลงมือปฏิบัติ  โดยข้อแรกคือ ทุกข์ ในอริยสัจทั้งสี่ข้อนั้น ทรงกล่าวถึงสิ่งเป็นความทุกข์ทั้งปวงในโลกไว้ดังนี้  "ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แลเป็นทุกขอริยสัจ คือ ความเกิด ก็เป็นทุกข์ ความแก่ ก็เป็นทุกข์ ความเจ็บไข้ ก็เป็นทุกข์ ความตาย ก็เป็นทุกข์ การเจอสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ก็เป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รัก ก็เป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้น ก็เป็นทุกข์ โดยย่นย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์" (พระไตรปิฎก เล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔ มหาวรรค ภาค ๑ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร)
จากนั้น พระพุทธองค์ทรงตรัสว่าการ ยึดถือ ในสิ่งทั้งปวงนั่นเองเป็น "สาเหตุแห่งความทุกข์" คือ
จากนั้น พระพุทธองค์ทรงตรัสว่าทุกข์สามารถดับไปได้ โดยการ ดับที่ตัวสาเหตุแห่งทุกข์ คือ ไม่ยึดถือว่ามีความทุกข์ หรือเราเป็นทุกข์ กล่าวคือ สละถอนเสียซึ่งการถือว่ามีตัวตน อันเป็นที่ตั้งของความทุกข์ (เมื่อไม่มีการยึดมั่นถือมั่นในใจว่าตนนั้นมี "ตัวตน" ที่เป็นที่ตั้งของความทุกข์ ทุกข์ย่อมไม่มีที่ยึด จึงไม่มีความทุกข์ดังนี้ "ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แลเป็นทุกขนิโรธอริยสัจ คือ ตัณหานั่นแลดับ โดยไม่เหลือด้วยมรรคคือ "หมดราคะ" "สละ" "สละคืน" "ปล่อยไป" "ไม่พัวพัน"."(พระไตรปิฎก เล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔ มหาวรรค ภาค ๑ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร)
เมื่อพระพุทธองค์ตรัสถึงผลของการปฏิบัติกิจในศาสนาแล้ว จึงได้ตรัสแสดงมรรค คือวิธีปฏิบัติตามทางสายกลางตามลำดับ 8 ขั้น เพื่อหลุดพ้นทุกข์โดยสิ้นเชิง คือดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แลเป็นทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ คือ อริยมรรคมีองค์ 8 นี้แหละ คือ ปัญญาอันเห็นชอบ 1 ความดำริชอบ 1 เจรจาชอบ 1 การงานชอบ 1เลี้ยงชีวิตชอบ 1พยายามชอบ 1 ระลึกชอบ 1 ตั้งจิตชอบ 1 (พระไตรปิฎก เล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔ มหาวรรค ภาค ๑ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร)
 
โดยสรุป พระพุทธองค์ทรงตรัสเรียงวิธีแก้ทุกข์ โดยแสดงให้เห็นปัญหา (ทุกข์) สาเหตุของปัญหา (สมุทัย) และจุดมุ่งหมายในการแก้ปัญหาคือการดับทุกข์ (นิโรธ) โดยทรงแสดงวิธีปฏิบัติ (มรรค) ไว้ท้ายสุด เพื่อให้ผู้ปฏิบัติได้ทราบจุดมุ่งหมายของการปฏิบัติก่อน เพื่อการเข้าใจไม่ผิด และจะได้ปฏิบัติโดยมุ่งไปยังจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้โดยไม่คลาดเคลื่อน
การประกอบพิธีอาสาฬหบูชาในประเทศไทย
วันอาสาฬหบูชา ได้ถูกกำหนดให้เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2501 โดยคณะสังฆมนตรี (มหาเถรสมาคม) ในสมัยนั้น ได้มีมติให้เพิ่มวันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา (ในประเทศไทย) ตามคำแนะนำของ พระธรรมโกศาจารย์ (ชอบ อนุจารี) โดยคณะสังฆมนตรีได้ออกเป็นประกาศสำนักสังฆนายก กำหนดให้วันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาพร้อมทั้งกำหนดพิธีอาสาฬหบูชาขึ้น เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2501
ไม่ปรากฏหลักฐานในประเทศไทยว่าในสมัยก่อน พ.ศ. 2501 เคยมีการประกอบพิธีอาสาฬหบูชามาก่อน ทำให้การกำหนดให้วันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาของสำนักสังฆนายกในครั้งนี้ เป็นครั้งแรกที่มีการกำหนดแบบแผนการประกอบพิธีนี้อย่างเป็นทางการ โดยหลังจากปี พ.ศ. 2501 ซึ่งเป็นปีแรกที่เริ่มมีการรณรงค์ให้มีการประกอบพิธีอาสาฬหบูชา พุทธศาสนิกชนชาวไทยได้ร่วมใจกันประกอบพิธีนี้กันอย่างกว้างขวางและแพร่หลายไปทุกจังหวัด จนกลายเป็นพิธีสำคัญของพุทธศาสนิกชนไทยตั้งแต่นั้นมา ดังนั้นในวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2505 คณะรัฐมนตรีนำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น จึงได้ลงมติให้ประกาศกำหนดเพิ่มให้วันอาสาฬหบูชา หรือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 (สำหรับปีไม่มีอธิกมาส) และวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 หลัง (ในปีมีอธิกมาส) เป็นวันหยุดราชการประจำปีอีก 1 วัน เพื่อเป็นการให้ความสำคัญกับวันสำคัญยิ่งของชาวพุทธนี้และเพื่ออำนวยความสะดวกแก่พุทธศาสนิกชนที่จะไปประกอบพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาด้วยอีกประการหนึ่ง
 
พระราชพิธี
พิธีบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในวันอาสาฬหบูชานี้มีชื่อเรียกเป็นทางการว่า พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศล เนื่องในวันอาสาฬหบูชา และเทศกาลเข้าพรรษาซึ่งเดิมก่อน พ.ศ. 2501 เรียกเพียง การพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศล เนื่องในวันเข้าพรรษา แต่หลังจากมีการกำหนดให้วันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาในปี พ.ศ. 2501 แล้วสำนักพระราชวังจึงได้กำหนดเพิ่มวันอาสาฬหบูชาเพิ่มเติมขึ้นมา การพระราชพิธีนี้โดยปกติมี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นองค์ประธานในการพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศล และบางครั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์เสด็จแทน โดยสถานที่ประกอบพระราชพิธีหลักจะจัดในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดบวรนิเวศวิหาร และภายในพระบรมมหาราชวัง การสำคัญของพระราชพิธีคือการถวายพุ่มเทียนเครื่องบูชาแก่พระพุทธปฏิมาและพระราชาคณะ รวมทั้งการพระราชทานภัตตาหารแก่พระราชาคณะ ฐานานุกรม เปรียญ ซึ่งรับอาราธนามารับบิณฑบาตในพระบรมมหาราชวังจำนวน 150 รูป ทุกปี เป็นต้น ซึ่งการพระราชพิธีนี้เป็นการแสดงออกถึงพระราชศรัทธาอันแน่นแฟ้นในพระพุทธศาสนา ขององค์พระมหากษัตริย์ไทยผู้ทรงเป็นเอกอัครพุทธศาสนูปถัมภก์มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
พิธีสามัญ
การประกอบพิธีทางพระพุทธศาสนาเนื่องในวันอาสาฬหบูชาของประชาชนทั่วไปนี้ พุทธศาสนิกชนชาวไทยโดยทั่วไปนิยมทำบุญตักบาตร ฟังพระธรรมเทศนา เวียนเทียนรอบอุโบสถหรือสถูปเจดีย์พุทธสถานต่าง ๆ ภายในวัด เพื่อเป็นการระลึกถึงวันคล้ายวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญของพระพุทธศาสนาในวัน ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8
 
โดยแนวปฏิบัติในการประกอบพิธีในวันอาสาฬหบูชาตามประกาศสำนักสังฆนายก ที่คณะสงฆ์ไทยได้ถือเป็นแบบแผนมาจนถึงปัจจุบันนี้คือ ให้คณะสงฆ์และพุทธศาสนิกชนจัดเตรียมสถานที่ก่อนถึงวันอาสาฬหบูชา โดยมีการทำความสะอาดวัด และเสนาสนะต่าง ๆ จัดตั้งเครื่องพุทธบูชา ประดับธงธรรมจักร และเมื่อถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ก็ให้จัดการแสดงพระธรรมเทศนาตลอดทั้งวัน เมื่อถึงเวลาค่ำให้มีการทำวัตรสวดมนต์และสวดบทพระธรรมจักกัปปวัตตนสูตร มีการแสดงพระธรรมเทศนาในเนื้อหาเรื่องในพระธรรมจักกัปปวัตตนสูตร นำสวดบทสรภัญญะบูชาคุณพระรัตนตรัย และให้พระสงฆ์นำเวียนเทียนบูชาพระพุทธปฏิมา อุโบสถ หรือสถูปเจดีย์ เมื่อเสร็จการเวียนเทียนอาจให้มีการเจริญจิตตภาวนา สนทนาธรรม แต่กิจกรรมทั้งหมดนี้ควรให้เสร็จสิ้นก่อนเวลา 24.00 น. ของวันนั้น เพื่อพักผ่อนเตรียมตัวก่อนเริ่มกิจกรรมวันเข้าพรรษา (วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8) ในวันรุ่งขึ้นต่อไป
การประกอบพิธีวันอาสาฬหบูชาในปัจจุบันนี้นอกจากการเวียนเทียน ทำบุญตักบาตรฯ ในวันสำคัญแล้ว ยังมีหน่วยงานภาครัฐ องค์กรทางศาสนา และภาคประชาชน ร่วมกันจัดกิจกรรมต่าง ๆ ขึ้นมากมาย เพื่อเป็นการเผยแผ่พระพุทธศาสนาและประชาสัมพันธ์กิจกรรมทางพระพุทธศาสนาต่าง ๆ ให้แก่ประชาชน เช่น กิจกรรมสัปดาห์เผยแผ่พระพุทธศาสนาวันอาสาฬหบูชา เป็นต้น
การจัดสร้างตราไปรษณียากรที่ระลึกวันอาสาฬหบูชาในประเทศไทย
นอกจากภาครัฐจะประกาศให้วันอาสาฬหบูชาเป็นวันหยุดราชการและให้การสนับสนุนงบประมาณเพื่อจัดกิจกรรมต่าง ๆ ในวันอาสาฬหบูชาแล้ว ยังได้เคยมีการจัดพิมพ์จำหน่ายตราไปรษณียกรที่ระลึกในวันอาสาฬหบูชาอีกด้วย โดยจะให้วันอาสาฬหบูชาเป็นวันเริ่มจำหน่ายตราไปรษณียกร ซึ่งรูปแบบที่จัดพิมพ์ลงในตราไปรษณียกรที่ระลึกวันอาสาฬหบูชานั้น ส่วนใหญ่จะจัดพิมพ์เป็นรูปพระพุทธประวัติ หรือพระพุทธรูป มีบ้างที่จัดพิมพ์เป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องชาดก
โดยตราไปรษณียากรชุดวันอาสาฬหบูชานี้ รัฐบาลไทยได้เริ่มจัดพิมพ์เพื่อเป็นที่ระลึกและร่วมเฉลิมฉลองในฐานะวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรกมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 แต่ไม่ได้มีการจัดพิมพ์ออกจำหน่ายทุกปีดังเช่นวันวิสาขบูชาและปรากฏว่าภาพที่นำมาตีพิมพ์ส่วนใหญ่ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับวันอาสาฬหบูชาแต่อย่างใด เช่น ตีพิมพ์เป็นภาพพระพุทธรูปปางอุ้มบาตร นิทานมโหสถชาดก เป็นต้น โดยปรากฏภาพที่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับวันอาสาฬหบูชาในไปรษณียากรที่ออกจำหน่ายเนื่องในโอกาสอื่นแทน เช่น วันเด็กแห่งชาติ เป็นต้น
ตราไปรษณียากรที่ตีพิมพ์ภาพที่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับวันอาสาฬหบูชาเท่าที่ปรากฏในประเทศไทย คือตราไปรษณียากรที่ระลึกชุดวันเด็กแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2539 โดยในครั้งนั้นตีพิมพ์เป็น 1 ราคา มี 3 แบบ ด้วยกัน โดยแต่ละแบบเป็นรูปภาพเกี่ยวกับวันสำคัญทางพุทธศาสนาในประเทศไทย คือ ภาพวันมาฆบูชา วันวิสาขบูชาและวันอาสาฬหบูชา ซึ่งภาพที่ตีพิมพ์รูปภาพวันอาสาฬหบูชาในครั้งนั้น เป็นตราไปรษณียากรราคาจำหน่าย 2 บาท เป็นรูปวาดผลงานของเด็กนักเรียนที่ชนะการประกวด โดยเป็นรูปวาดพระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาแก่เหล่าปัญจวัคคีย์ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี มีรูปพระพุทธเจ้าประทับนั่งอยู่ด้านซ้ายของรูปบนพระแท่นดอกบัวใต้ร่มไม้ใหญ่ ข้าง ๆ มีรูปกวางแสดงถึงสวนป่าสารนาถตามตำนานป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ด้านขวาล่างมีรูปฤๅษีเบญจวัคคีย์ในชุดฤๅษี 4 ท่าน และรูปพระโกณฑัญญะในชุดพระสงฆ์ 1 องค์ นั่งพนมมือสดับพระปฐมเทศนา แสดงถึงการอุบัติของพระสงฆ์องค์แรกในโลกครบเป็นองค์พระรัตนตรัย ด้านบนกลางภาพเป็นรูปพระธรรมจักรเปล่งรัศมี แสดงถึงการเริ่มประกาศพระสัจจธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในขอบด้านซ้ายมีคำว่า "วันเด็กแห่งชาติ ๒๕๓๙ CHILDREN'S DAT 1996" มุมขวาล่างมีคำว่า "2 บาท BAHT" ทั้งหมดพิมพ์เป็นชนิดราคา 2 บาท มีราคาเดียวเท่านั้น ซึ่งกล่าวได้ว่าแม้ตราไปรษณียากรดังกล่าวจะไม่ใช่ตราไปรษณียากรที่ตีพิมพ์เนื่องในวันอาสาฬหบูชาโดยตรง แต่ก็เป็นตราไปรษณียากรไทยรูปแบบเดียวที่ตีพิมพ์ภาพที่มีความหมายเกี่ยวข้องกับวันอาสาฬหบูชามากที่สุดเท่าที่ปรากฏในปัจจุบัน
บรรณานุกรม
ธนากิต.วันสงกรานต์วันสำคัญของไทย.บรรณาธิการ.หน้า 81-105.กรุงเทพฯ:ชมรมเด็ก,2541
สมบัติ จำปาเงิน.วันลอยกระทง”.วันสำคัญของเรา.หน้า215-221.กรุงเทพฯ:สถาพรบุ๊คส์,2547
สุรีย์ มีผลกิจ.วันอาสาฬหบูชา”.วันสำคัญในพระพุทธศาสนา.หน้า111-178.กรุงเทพฯ:คอนฟอร์ม,2549
 
 
 

 

 
 
 
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น